จิตวิญญาณความเป็นพุทธของหมอมะม็วดในวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในจังหวัดสุรินทร์

จิตวิญญาณความเป็นพุทธของหมอมะม็วด

ในวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในจังหวัดสุรินทร์

Buddhism’s Spirit of Mo Mamuat

in Healthcare Culture of Thai-Khmer Ethnic Group in Surin Province, Thailand

 

ดร.ทักษิณาร์ ไกรราช

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

บทคัดย่อ

กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในอีสานใต้คือกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร ซึ่งมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม หลายด้าน  โดยเฉพาะการประกอบพิธีกรรมโจลมะม็วดซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญที่โดดเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรโดยมีการถ่ายทอดและรักษาให้คงอยู่ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีพัฒนาการรากฐานมาจากความเชื่อเรื่องผี แล้วผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธที่ตามเข้ามาในแต่ละมิติเวลา ด้วยความเชื่อที่ผสมผสานทำให้พิธีกรรมโจลมะม็วดซึ่งมีหมอมะม็วดทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์กับเทพหรือสิ่งเหนือธรรมชาติเพื่อจุดมุ่งหมายในการบำบัดรักษาผู้ป่วยนั้นจึงมีกิจกรรมที่หลากหลายขั้นตอนตามความเชื่อต่างๆดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นพิธีการไหว้ครู การร่ายรำปัดวิญญาณชั่วร้าย การเรียกขวัญผู้ป่วยให้กลับคืนเข้าร่างกาย และด้วยจิตวิญญาณความเป็นพุทธที่มีอยู่ในตัวหมอมะม็วดจึงมีการนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเข้ามาสอดแทรกในพิธีกรรม อันได้แก่ กตัญญูกตเวที บูชา  ศีล ๕ บุญกิริยาวัตถุ ๓ และไตรลักษณ์  เพื่อสอนสั่งศิษย์ให้ถือปฏิบัติเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตและเพื่อให้สงบสุขของชุมชน

คำสำคัญ : หมอมะม็วด  จิตวิญญาณ  วัฒนธรรมการดูแลสุขภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร  

Abstract

          The largest ethnic groups in Southern Isan is Thai-Khmer ethnic group. It has strong culture, especially Jol-mamuat ritual, which is a dominant identity of the Thai-Khmer ethnic group. They inherited the ritual from the past to the present. Thai-Khmer ethnic group had its roots from spiritualism, then followed by and mixed with Hinduism and Buddhism. The unified beliefs makes Jol-mamuat ritual, that Mo Mamuat serves as intermediary between man and God or the supernatural for treating patients, has many activities or steps by such beliefs, such as Wai Khru, dance to exorcisef evil spirits, reassuring the patients by calling the “khwan” of patients back into their bodies, etc. Because the Mo Mamuat’s spirit of Buddhism, a number of principles of Buddhist are included in the ritual, such as gratitude (Katanyu Katavedi), Puja, five precepts (Pancasilani), three meritorious deeds (Punna-kiriya-vatthu 3) and three marks of existence (Trilaksana), to teach disciples for their safe living and to keep the peace of the community.

Keywords : Mo Mamuat, spirit, healthcare culture, Thai-Khmer ethnic group

 

.บทนำ

คำว่า กลุ่มชาติพันธุ์ โดยทั่วไป หมายถึง กลุ่มคนที่มีจุดกำเนิดของบรรพบุรุษร่วมกัน มีขนบธรรมเนียมประเพณีเดียวกันและภาษาเดียวกัน ตลอดจนมีความรู้สึกในเผ่าพันธุ์เดียวกัน สุวิไล เปรมศรีรัตน์[๑] อธิบายว่า กลุ่มชาติพันธุ์ ภาษาอังกฤษคือ ethnic groups หมายถึง กลุ่มคนที่มีบรรพบุรุษ ภาษา วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ แบบแผนการดำเนินชีวิตร่วมกัน และมีความรู้สึกในเผ่าพันธุ์เดียวกัน สอดรับกับ งามพิศ สัตย์สงวน (๒๕๔๕)[๒] ที่ให้ความหมายของกลุ่มชาติพันธุ์ว่า เป็นกลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมย่อยร่วมกัน คือ มีค่านิยม ความคิด อุดมการณ์ ประเพณี พิธีกรรมทางศาสนา ระบบสัญลักษณ์และวัฒนธรรมด้านอื่นๆ ร่วมกัน

          ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าใดก็ตาม แต่สำหรับภาคอีสาน โดยเฉพาะอีสานใต้ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีมากที่สุดคือ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร รองมาคือกลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาว และกลุ่มชาติพันธุ์กูย ซึ่งหากนับความเข้มแข็งทางวัฒนธรรม พบว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมมากที่สุด ไม่ว่าจะด้านความเชื่อ ด้านภาษา ด้านการแต่งกาย ด้านอาหารพื้นบ้าน ด้านประเพณี พิธีกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งเหนือธรรมชาติ ในพิธีกรรมโจลมะม็วด ถือเป็นความเชื่อ และพิธีกรรมที่เป็นอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในอีสานใต้ที่มีการถ่ายทอดและรักษาให้คงอยู่จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

 

.จักรวาลวิทยาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร

แนวคิดจักรวาลทัศน์ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรอธิบายมนุษย์และสรรพสิ่งทุกสิ่งในจักรวาลมีความเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กับเรื่องสุขภาพ ร่างกาย และความเจ็บป่วยของมนุษย์ โดยมีความเชื่อที่มีการผสมผสานระหว่างความเชื่อที่สำคัญอยู่ ๓ ระบบ ได้แก่ ความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อท้องถิ่นดั้งเดิมมาแต่อดีตกาลความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อทางศาสนาพุทธ

จักรวาลวิทยาในพุทธศาสนาเป็นโลกทัศน์ที่เกี่ยวกับลักษณะธรรมชาติของโลกและจักรวาลที่เชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องกรรม สุคติ และทุคติ โดยพระพุทธเจ้าทรงได้อธิบาลให้เห็นถึงความรู้เรื่องจักรวาลวิทยา ว่าเป็นความรู้ที่กล่าวถึงกำเนิดของสิ่งมีชีวิตและลักษณะตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ เช่น มนุษย์และสัตว์ ขณะเดียวกับที่ น้อย ผิวผัน[๓] ได้อธิบายถึง “ต้นปฐมกัปป์” ที่กล่าวถึงกำเนิดของสัตว์และมนุษย์ทั้งหลายว่า

          “...  ก่อนที่สัตว์โลกทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาในต้นปฐมกัปป์ก่อน  ๆ  ซึ่งไม่มีแม้มนุษย์

     และสัตว์เดียรัจฉานใด  ๆ  เลย  ตลอดจนเทวดา  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  ก็ไม่มี

     มีแต่ต้นไม้  ดอกไม้  หญ้าเล็ก  ๆ  เท่านั้น  ต่อมาเมื่อต้นไม้ใบหญ้าแห้งเหี่ยวเน่าเหม็นอยู่ใน

     ดิน  จึงกลายเป็นหนอน  และสัตว์เล็ก  ๆ  ขึ้นมา  เช่น  แมลงหวี่  มด  ปลวก  เป็นต้น  ครั้น 

     นานมาสัตว์เหล่านั้นจึงเกิดเป็นไข่  แล้วแตกออกมาเป็นสัตว์ตัวใหญ่ขึ้นมาอีก  เช่น  นก  งู  

     ปลา  เต่า  จระเข้  ครั้นนานมาจึงเกิดในครรภ์  คลอดออกมาเป็นสัตว์ตัวใหญ่  เช่น  ลิง  ค่าง  

     ช้าง  ม้า  วัว  ควาย  แต่ไม่มีจิตวิญญาณเหมือนมนุษย์  จนหลายร้อยหลายพันชาติจึงกลายเป็น

     สัตว์ที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์  มีจิตวิญญาณ  มีความรู้สึกนึกคิดขึ้น  ...”

          นอกจากนั้นยังได้กล่าวถึงปฐมกัปป์ว่า ความรู้เรื่องจักรวาลวิทยาที่พระพุทธเจ้าทรงหยั่งรู้ได้ด้วยทิพยจักษุญาณ  คือ  เรื่องภูมิต่าง  ๆ  มีการพรรณนาสภาพอันน่าสะพรึงกลัวในทุคติภูมิหรืออบายภูมิ  และมีการพรรณนาสภาพอันน่ารื่นรมย์ในสุคติภูมิ  ประเภทของภูมิที่ว่าด้วย  นรก  สวรรค์  มีอยู่ในจิตใจของมนุษย์ 

          สารานุกรมวัฒนธรรมไทย  ภาคอีสาน  เล่มที่  ๘[๔]  ที่กล่าวว่า  “ปู่สังไกยสาย่าสังไกยสี”  ที่เป็นมนุษย์คู่แรกเกิดจากการรวมตัวของขันธุ์ห้าเป็นร่างกายมนุษย์  เป็นผู้สร้างสรรพสิ่งในโลก  ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ก็ดี  พันธุ์พืชก็ดี  ปั้นเป็นรูปอะไรก็ได้อย่างนั้นเกิดขึ้น  ต่อมาทั้งสองจึงตกลงปลงใจอยู่ด้วยกันเพื่อสร้างมนุษย์ชายหญิงเกิดขึ้นตามมา  ครั้นสร้างมนุษย์แล้ว  จึงสร้างพระสุเมรุให้เป็นแกนกลางของจักรวาล  หลังจากนั้นก็ให้พระอาทิตย์พระจันทร์ส่องแสงและเดินรอบจักรวาล  เกิดเป็น  ๑๒  ราศี  และ  ๓  ฤดู  ปู่สังไกยสาย่าสังไกยสีได้สั่งสอนให้มนุษย์โลกตั้งตนอยู่ในศีล  สร้างกุศลบำเพ็ญทาน  เพื่อจะได้เกิดในสวรรค์  หากใครอยากไปเกิดในนรกอเวจีก็ให้สร้างเวรสร้างกรรม  

          ส่วนความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านนั้น  เกี่ยวกับผีโดยอธิบายว่ารอบ  ๆ  ตัวมนุษย์และธรรมชาติมีผีอยู่  ผีมีทั้งผีดีและผีร้าย  โดยผีดีจะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครอง  แต่จะลงโทษมนุษย์ได้หากว่ามนุษย์ทำให้ผีไม่พอใจ  เช่น  เดียวกับผีร้ายที่ทำร้ายมนุษย์ได้ รวมถึงการผสมผสานความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ –ฮินดู ที่มีรูปเคารพของเทพเจ้า และรูปเคารพต่างๆ ตามเทวสถานต่างๆที่ปรากฏในพื้นที่อีสานใต้ ซึ่งเป็นความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีการประกอบพิธีกรรม  เซ่นสรวงบูชา

จากจักรวาลทัศน์ในการมองร่างกายและมองโลกอยู่ภายใต้ความเชื่อทางศาสนาพุทธ ศาสนาพราหมณ์ และความเชื่อเรื่องผี พราหมณ์ และพุทธ[๕]

ทำให้ชาวบ้านอธิบายว่าร่างกายประกอบไปด้วย  ๒  ส่วนคือ  ตัวร่างกาย  และจิตใจหรือขวัญ  และร่างกายมีอำนาจเหนือธรรมชาติ  ที่ส่งผลต่อความการอธิบายสมดุลของสุขภาพและสาเหตุการเกิดโรค  รวมทั้งข้อห้ามต่าง ๆ 

ความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีการพัฒนารากฐานมาจากความเชื่อเรื่องผี ผสมผสานกับศาสนาพราหมณ์ และศาสนาพุทธ ด้วยวิถีชีวิตดั้งเดิมของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรที่อาศัยอยู่ในเขตป่าดงที่เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์มากด้วยทรัพย์กรป่า การอาศัยอยู่ในป่าดงที่แวดล้อมด้วยป่าเขาลำเนาไพรพร้อมด้วยสิงสาลาสัตว์น้อยใหญ่ และสิ่งที่เหนือธรรมชาติ เช่น เจ้าป่าเจ้าเขา นางไม้ ผีเจ้าที่ และอื่นๆ และเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สิงสถิตอยู่ทั่วทุกมุมโลกดังนั้นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรจึงให้ความเคารพต่อสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อว่ามีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์[๖] หากผีโกรธอาจทำให้ได้รับเพศภัยอันตราย ความเชื่อเหล่านี้เป็นเหตุให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรจึงศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาเวทย์มนต์ มีของขลังต่างๆรักษา เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิต และมองผีก็เสมือนคน มีความหิว ความอยาก จึงมีการประกอบพิธีกรรมบวงสรวงผีและสิ่งเหนือธรรมชาติเป็นประจำทุกปี

ความเชื่อเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาดังกล่าว     ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรเชื่อว่าร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ ส่วนร่างกายและส่วนจิตใจ ในส่วนของจิตใจหรือขวัญ ซึ่งทั้งสองส่วนมีความสัมพันธ์กัน โดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรส่วนใหญ่เชื่อว่ามีขวัญ ๑๙ ขวัญ อยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ขวัญสำคัญที่สุดอยู่บนกระหม่อม เรียกว่า “ขวัญหัว” อีกทั้งมีความเชื่อว่าร่างกายมี “กรูกำเนิด” ซึ่งเป็นเทพที่ติดตัวมากับมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดโดยประทับอยู่บนศีรษะ ร่างกายจึงมิได้มีเพียงมนุษย์เป็นเจ้าของ แต่ร่างกายยังเป็นพื้นที่ยืนหรือที่ตั้งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มนุษย์จำเป็นต้นให้ความเคารพยำเกรง ความเชื่อดังกล่าวจึงทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีข้อปฏิบัติเกี่ยวกับศีรษะค่อนข้างเคร่งครัด จะรักษาและถนอมศีรษะยิ่งชีพ เชื่อว่าหากโดนจับเล่นศีรษะอาจจะทำให้เจ็บป่วย และมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรงได้ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรจึงให้ความสำคัญกับศีรษะและขวัญเป็นอย่างมาก อีกทั้งเชื่อว่าหากขวัญหายออกจากร่าง จะทำให้เจ็บป่วย หรือเสียชีวิตได้

นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรยังมีความเชื่อเรื่องคุณไสย ที่เรียกกันว่า อำเปอ รวมถึงยาสั่ง ความเชื่อดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรแต่ละคนมีของรักษาประจำตัว ไม่ว่าจะเป็นเครื่องรางของขลัง คาถาอาคม   หรือเข้าไปเป็นบริวารของหมอมะม็วดซึ่งเชื่อว่าเป็นเสมือนตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสามารถปกป้องรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตตนได้ อีกทั้งในกรณีที่มีผู้ป่วยที่โรงพยาบาลไม่สามารถรักษาให้หายได้ จะขอเข้ามารับบริการบำบัดโรคจากหมอมะม็วด ด้วยพิธีกรรมต่างๆ ตามกระบวนการบำบัดรักษาที่แก้ตามสาเหตุของการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นการถอดถอนคุณไสย การสะเดาะเคราะห์ การเรียกขวัญ หรืออื่นๆ การสะเดาะเคราะห์ การถอดถอนคุณไสย แต่ด้วยความเป็นชาวพุทธของหมอมะม็วด ซึ่งเป็นผู้นำทางด้านความเชื่อเรื่องบุญ กรรมในชาตินี้ ชาติหน้า และชีวิตหลังความตาย ตามคำสอนทางหลักพระพุทธศาสนา ในพิธีกรรมโจลมะม็วด หมอมะม็วดจึงนำคำสอนในหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาสอดแทรกอธิบายให้ผู้ป่วย และผู้เข้าร่วมพิธีปฏิบัติตนเพื่อการสะสมคุณความดีเพื่อผลที่ดีทั้งในชาตินี้และชาติหน้า รวมถึงสอนให้ฝึกจิตให้สงบ

 

.ความเชื่อเกี่ยวกับสาเหตุการเจ็บป่วยของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร

         กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรเชื่อว่าการเกิดการเจ็บป่วยเกิดจากหลายสาเหตุ ซึ่งสาเหตุใหญ่ ๆ มี ๒ ประการคือ การเจ็บป่วยจากธรรมชาติและจากสิ่งเหนือธรรมชาติ   การเจ็บป่วยจากธรรมชาติ ได้แก่ การเจ็บป่วยตามอายุขัย การเจ็บป่วยจากเลือดลม การเจ็บป่วยจากความเครียด จากการพักผ่อนได้น้อย จากการได้รับเชื้อโรค เป็นต้น สำหรับการเจ็บป่วยจากสิ่งเหนือธรรมชาติมีสาเหตุมาจาก ๓ ประการใหญ่ ๆ คือ ๑. การกระทำของผี ซึ่งมีทั้งผีดีและผีไม่ดี ผีไม่ดี ได้แก่ ผีปอบ ผีพราย ผีสัมภเวสี ที่มากระทำ ส่วนผีดีหรือที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกว่า เทพ ซึ่งมักให้คุณ แต่จะกระทำต่อเมื่อบุคคลนั้นกระทำผิดจารีตประเพณี กระทำผิดต่อข้อห้ามของสังคม ๒. เกิดจากขวัญออกจากร่างกาย   เช่น ขณะหลับแล้วขวัญออกไปเที่ยวแล้วไม่กลับมา หรือขวัญหายจากการเสียใจ จากการตกใจ ๓. เกิดจากถูกของเข้า หรือเรียกว่า อำเปอ หรือ คุณไสย เช่น การใช้เวทมนต์คาถาเสกของมาทำร้าย จากการโกรธเคืองกันทำพิธีกรรมบางอย่างเพื่อให้ฝ่ายตรงกันข้ามเกิดการเจ็บป่วยขึ้น หรืออาจเพียงเพื่อการลองของ   คนที่ถูกของนั้นจะเจ็บป่วยมีอาการคล้ายคนบ้า หรือการถูกยาสั่ง จนทำให้บุคคลที่โดนนั้นเสียชีวิต

          ในกรณีที่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากการกระทำของผี  หมอมะม็วดจะทำหน้าที่อ้อนวอน ขอขมาต่อผีนั้นๆ ให้ยกโทษให้ผู้ป่วย หากเป็นการเจ็บป่วยจากคุณไสย หมอมะม็วดจะทำพิธีถอดถอนคุณไสยออกด้วยไข่ไก่ โดยก่อนสิ้นสุดพิธีหมอมะม็วดจะสอดแทรกคำสอนแก่ศิษย์ด้วยคำสอนตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา

 

. วาทกรรม “สุขภาพ” สากลกับของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร

นักวิชาการทางการแพทย์ที่มีชื่อเสียงในอดีตตั้งแต่ฮิปโปเครติส (Hippocrates)  พาราเซลลัส (Paracelsus) รูดอล์ป เวอร์ชาว (Rudolf Virchow) และกระทั่ง ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มองว่า “สุขภาพและการเจ็บป่วยเกี่ยวข้องและเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการดำรงชีพของมนุษย์”  ดังนั้นในการศึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ จำเป็นต้องทำความเข้าใจนิยามความหมายเกี่ยวกับ “สุขภาพ” การเจ็บป่วย” ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร เพื่อให้เข้าใจในวิถีคิดเกี่ยวกับสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ การให้คำจำกัดความ “สุขภาพ” และ “การเจ็บป่วย” นั้น ไม่ใช่เพียงเพื่อกำหนดแนวคิดทางปรัชญาเกี่ยวกับสุขภาพเท่านั้น แต่คำจำกัดความนี้มีความเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพตนเอง และการตัดสินใจในการรับบริการบำบัดรักษาจากแหล่งบริการต่างๆ

เช่นเดียวกับแนวคิดเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพมีพัฒนาการมาจนถึงแนวคิดที่สำคัญนักมานุษยวิทยาการแพทย์ที่สำคัญคนหนึ่ง คือ  อาเธอร์  คลายน์แมน (Arthur  Kleinman) ที่เน้นถึงวิธีการศึกษาแบบเชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnographic  approach) หรือกระบวนการศึกษาที่เขาเรียกว่า medical ethnography  นั่นก็คือ วิธีการศึกษาเพื่อให้เข้าใจว่าผู้อยู่ในสังคมหรือชุมชนที่เราศึกษานั้นคิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ  ตั้งแต่เรื่องความเชื่อเกี่ยวกับความเจ็บป่วย  การตัดสินใจเกี่ยวกับวิธีการที่จะตอบสนองต่อความเจ็บป่วยตลอดจนการคาดหวังและประเมินเกี่ยวกับความช่วยเหลือที่ได้รับ

คำว่า “สุขภาพ” ภาษาอังกฤษมาจากคำว่า  “Health”  ซึ่งมีความหมายในทางบวก หมายถึง

“สุขภาพดี” สำหรับภาษาไทยคำว่า“สุขภาพ”  มาจากคำว่า   สุข  กับ  ภาวะ  หมายถึง  ภาวะที่เป็นสุข หรือ  well – being   นั่นเอง ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามไว้ในวรรคแรกของกฎบัตรว่า สุขภาพคือ สภาพความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางร่างกาย จิตใจและทางสังคมอย่างพร้อมมูล มิใช่แต่เพียงการปราศจากโรค ปราศจากทุพพลภาพเท่านั้น แต่เป็นคนที่สามารถปรับตัวให้มีความสุขอยู่กับสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา  โดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในจิตใจ  มีสัมพันธภาพอันดีงามกับบุคคลอื่นและดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสมดุลอย่างมีความสุขสามารถที่จะเป็นมิตรและคบค้าสมาคม  มีความสัมพันธ์กับคนอื่นในทางที่ดีได้   นั่นก็คือ การมีสุขภาพสังคมที่ดีตามมา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่ประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก จึงเพิ่มคำว่า spiritual well – being หรือสุขภาพทางจิตวิญญาณเข้าไป ซึ่งคำว่า จิตวิญญาณ นี้ Schultz  and  Videbeck กล่าวไว้ว่า หมายถึงปฏิบัติการของความเป็นมนุษย์ในด้านศีลธรรมและจริยธรรม  เป็นสัญลักษณ์ของพฤติกรรมที่ดีความเชื่อในคุณค่า  ความรัก   ความยำเกรงหรือการบูชา  ซึ่งเป็นปรัชญาแห่งชีวิตของบุคคล  เป็นแหล่งของความเข้มแข็ง  การค้ำจุน  ความมั่นคง   เป็นการเจริญสติ  เจริญสมาธิ  จิตวิญญาณที่สูงก่อเกิดความสุขอันประณีต  ดื่มด่ำ  ท่วมท้น สุขทั่วทุกอณูของร่างกาย   คล้ายสุขทิพย์  สุขที่ยากแก่การอธิบายนี้เรียกว่า  ความสุขทางจิตวิญญาณ (spiritual  happiness)  หรือ สุขภาพทางจิตวิญญาณ นั่นเอง

อาจกล่าวได้ว่าคำว่า “สุขภาพ” ในความหมายขององค์การอนามัยโลกนั้น สุขภาพถูกนิยามในความหมายสุขภาวะ (well-being) เป็นเรื่องราวของชีวิตที่ดำเนินไปตามปกติธรรมดา เป็นสภาวะแห่งความสมบูรณ์ของร่างกายและจิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ สุขภาพต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบเหล่านี้อย่างสอดประสานกัน แต่ในความเป็นจริงความหมายของสุขภาพเป็นเพียงวาทกรรม ในการสร้างความหมายเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง แต่ในปรากฏการณ์ทางปฏิบัติการแพทย์แผนปัจจุบันให้ความสำคัญกับการบำบัดรักษาทางกาย ตามแนวทางของทฤษฎีเชื้อโรค ด้วยการหาสาเหตุที่มาของโรค เพื่อการวินิจฉัยโรค นั่นก็คือการเน้นรักษาโรคมากกว่าการรักษาคนมาโดยตลอด

สำหรับคำนิยาม “สุขภาพ” ของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น  ปิเอร์เรต์  (Pierret)  นักสังคมวิทยา ได้เขียนบทความ  Construcing  discourses  about  health  and  their  social  determinant[๗] ที่ได้จากวิจัยเชิงสำรวจเพื่อทำความเข้าใจความหมายของสุขภาพในทัศนะของกลุ่มชาติพันธุ์ว่า  การศึกษาเกี่ยวกับความหมายของสุขภาพต้องใช้ทัศนะหรือมิติมุมมองที่กว้าง  สุขภาพเป็นเรื่องสุขภาวะในชีวิตประจำวัน ที่ประกอบขึ้นด้วยความสัมพันธ์กับคนอื่นๆในสังคมหรือกลุ่มเดียวกันได้ หรืออีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่า สุขภาพเป็นเรื่องของโครงสร้างสังคมใหญ่ ที่มีลักษณะเป็นเหตุการณ์ทางสังคมที่มีความซับซ้อน เชื่อมโยงสัมพันธ์กันทุกด้านและแปรผันไปในทุกมิติ  มีการเลื่อนไหล หรือปรับเปลี่ยนตามบริบทด้านสถานที่  เวลา  และเงื่อนไขทางสังคม- วัฒนธรรม  เศรษฐกิจการเมือง เช่นเดียวกับการดูแลสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีมิติของเวลาในการพัฒนาความเชื่อจากอดีตมาจนปัจจุบันจนมีการผสมผสานความเชื่อและพิธีกรรมที่ประกอบด้วยผี  พราหมณ์ และพุทธศาสนา

ดังนั้นคำว่า สุขภาพ ของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร จึงเป็นสุขภาพดีของแต่ละบุคคลที่ผูกพันและเชื่อมโยงกับวิถีการดำเนินชีวิตในครอบครัว  ชุมชน  สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างแยกกันไม่ออก สุขภาพจึงเป็นบูรณาการที่สำคัญส่วนหนึ่งของคุณภาพชีวิตที่มีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดในเรื่องดุลยภาพ  ซึ่งเกิดจากความเชื่อมโยงขององค์ประกอบทั้งหมด  สมดุลของสุขภาพเกิดขึ้นเมื่อ กาย  จิต  สังคม และจิตวิญญาณ มีความสัมพันธ์ต่อกัน

.หมอมะม็วด

เป็นที่ยอมรับกันของนักมานุษยวิทยาการแพทย์ในข้อเท็จจริงที่เป็นปรากฏการณ์สังคมทั่วโลกว่า  ในสังคมหนึ่งๆ จะมีระบบการแพทย์มากกว่าหนึ่งระบบดำรงอยู่เสมอ  ไม่ว่าสังคมนั้นจะเป็นสังคมสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี หรือจะเป็นสังคมดั้งเดิมที่ห่างไกลจากความทันสมัยก็ตาม[๘]  ที่เป็นเช่นนี้เพราะโดยความเป็นจริงแล้วไม่มีระบบการแพทย์ใดที่จะมีความสมบรูณ์แบบในตัวของมันเองในการที่จะตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดจากความเจ็บป่วยได้อย่างบริบรูณ์ในทุกมิติอย่างเหมาะสมกับความแตกต่างหลากหลายของผู้คนที่มีอยู่ในสังคมได้  การแพทย์พหุลักษณ์จึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกสังคมทั่วโลก

แนวคิดการแพทย์พหุลักษณ์ ของ Kleinman[๙]  เป็นแนวคิดหลัก ระบบการแพทย์พหุลักษณ์ (Pluralistic medical system) หรือ (medical pluralism) หรือพหุนิยมทางการแพทย์ หมายถึง ความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพที่ดำรงอยู่ในสังคมหนึ่งๆ นั้น  โดย Kleinman[๑๐] นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน อธิบายไว้ว่า ระบบวัฒนธรรมหนึ่งๆของสังคม ซึ่งประกอบด้วยระบบต่าง ๆ ๓ ระบบย่อยด้วยกัน  ได้แก่ ๑. ระบบการดูแลสุขภาพของสามัญชน (Popular  Health  Sector) อันเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุด  ๒. ระบบการดูแลสุขภาพแบบตะวันตก (Professional  Health  Sector) และ ๓.  ระบบการดูแลสุขภาพแบบพื้นบ้าน  (Traditional  Sector  of  care)     ภายในระบบการดูแลสุขภาพของสามัญชนนี้ประกอบด้วยบุคคลและกลุ่มบุคคลต่าง ๆ  ๔  ระดับ คือ ๑.  ผู้ป่วย ๒.  ครอบครัวผู้ป่วย  ๓.  เครือข่ายทางสังคมของผู้ป่วย  (social  network)  ได้แก่  ญาติ  เพื่อนบ้าน  เพื่อนฝูงในที่ทำงาน   ๔. ชุมชน  เช่น  ผู้นำชุมชน ซึ่งสองประเภทหลังเป็นการดูแลสุขภาพแบพื้นบ้าน ที่เป็นวัฒนธรรมภายในสังคมแต่ดั้งเดิม เป็นการแพทย์แบบชาวบ้าน (popular) ที่ไม่มีลักษณะวิชาการชั้นสูง ดังเช่นการแพทย์แบบวิชาชีพหรือการแพทย์แบบตะวันตก ซึ่ง Kleiman อธิบายว่า ระบบการแพทย์ทั้งสามนี้ดำรงอยู่ร่วมกันอย่างผสมผสานลงตัวในแต่ละสังคม

          ในวัฒนธรรมการดูแลสุขภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรก็เช่นเดียวกัน ระบบการแพทย์แต่ละชุมชนหรือสังคมที่มีด้วยกันอย่างน้อย ๓ กลุ่มหลัก ได้แก่  การดูแลตนเองและสมาชิกในครอบครัวโดยใช้ภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพที่ถ่ายทอดกันอยู่ในระบบครอบครัวและเครือญาติ โดยเมื่อมีการเจ็บป่วย พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย จะนำสมุนไพรมาทำการบำบัดรักษากันในเครือญาติของตน  แต่หากเกินความสามารถจะไปขอรับริการจากหมอพื้นบ้าน แต่หากประเมินว่าเป็นโรคเกี่ยวกับโรคของโรงพยาบาลก็จะไปรับบริการที่สถานบริการสาธารณสุข 

          โดยทั่วไปหมอพื้นบ้านสามารถจำแนกประเภทได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือกลุ่มหมอรักษาทางกายบำบัดเป็นการรักษาที่ให้ความสำคัญกับการรักษาร่างกายโดยตรง  ได้แก่ หมอนวด  หมอจับเส้น  หมอกระดูก  หมอฮากไม้  อีกกลุ่มคือหมอรักษาทางจิตบำบัด  ที่มักมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วยส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ  หมอพื้นบ้านกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จึงบำบัดรักษาด้วยพิธีกรรม ซึ่งก็คือหมอมะม็วด  ที่ให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยด้วยการหาสาเหตุของการเจ็บป่วย และทำพิธีโจลมะม็วดแก้ไขตามสาเหตุของการเจ็บป่วย และท้ายสุดจะเรียกขวัญกลับสู่ร่างกาย  อีกทั้งทำพิธี  “เลียก”  เพื่อดูดถอดถอนพิษที่ถูกกระทำจากอำนาจมืดที่มองไม่เห็นออกจากร่างกายในกรณีที่โดนคุณไสย  ด้วยความเชื่อที่เข้มแข็งและยังมีปรากฏการณ์การเจ็บป่วยที่เชื่อว่าเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้มอมะม็วดยังคงได้รับความนิยมจากชาวกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในอีสานใต้ในการเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างเนืองแน่น

.พิธีกรรมโจลมะม็วด

  พิธีกรรมโจลมะม็วด  เป็นพิธีกรรมของหมอมะม็วดกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในอีสานใต้  ซึ่งคำว่า“โจล” หมายถึง การเข้าทรง  “มะม็วด”  หมายถึง  ตัวบุคคลที่สามารถสื่อกับวิญญาณต่าง ๆ  ให้มาประทับทรงได้  สำหรับกรูมะม็วด  เป็นเทพที่มาสถิตกับคน  สามารถทำให้บุคคลนั้นเข้าทรง  พูดคุยกับเทพองค์อื่น ๆ  จนสามารถทราบสาเหตุของการเจ็บป่วยและการประกอบพิธีกรรมแก้ไขสาเหตุของการเจ็บป่วย

             จากการศึกษาพบว่า พื้นที่ศึกษากลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีหมอมะม็วดอาศัยอยู่ทั่วไปในชุมชน โดยมีผู้ป่วยจากหมู่บ้านเดียวกันและพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงจังหวัดอื่นๆในอีสานใต้มารับบริการไม่ขาดสาย เป็นเสมือนเครือข่ายทางสังคมของหมอมะม็วดที่มีครอบคลุมอยู่เกือบทุกพื้นที่ในอีสานใต้  ผู้ป่วยที่มารับบริการรักษาจากหมอมะม็วด ประมาณร้อยละ ๙๐  ส่วนใหญ่เคยไปรับบริการจากระบบการแพทย์แผนปัจจุบันมาก่อน  แต่รักษาไม่หาย  ส่วนใหญ่มักหาสาเหตุไม่ได้และมีอาการแปลกไปกว่าโรคปกติทั่วไป คล้ายลักษณะเกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติ ที่มนุษย์ทั่วไปไม่สามารถควบคุมอาการได้ เช่น มีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง รับประทานยาตัวใดก็ไม่หายอยู่ เอกซเรย์หรือ CT Scan ก็ไม่พบความผิดปกติในสมอง หรืออยู่ๆ ก็มีอาการซึมเศร้า  เพ้อเจ้อ  พูดไม่รู้เรื่องอย่างฉับพลัน  บางรายก็ยืนไม่ได้ เดินไม่ได้ นอนติดเตียงอย่างกะทันหันโดยไม่มีสาเหตุ เป็นต้น                 

 พิธีกรรมมะม็วดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร คือการประกอบพิธีกรรมบูชาเคารพกราบไหว้สิ่งเหนือธรรมชาติ ซึ่งอาจเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ  นางฟ้า  เทพ เทวดา หรืออื่นๆ เป็นการบูชาตามแบบแผนที่ได้รับการถ่ายทอดต่อกันมา จากความเชื่อที่มีการผสมผสานระหว่างผี พราหมณ์ พุทธ ทำให้พิธีกรรมจึงมีการผสมผสานหลายกิจกรรม ได้แก่ การไหว้ครู  เพื่อบูชาบรรพบุรุษ  การรำถวาย การเซ่นไหว้  การขอขมา และการบำบัดรักษาผู้ป่วยโดยผ่านพิธีกรรม โดยผ่านดนตรี เครื่องหอม เพลง ดนตรี การขับกล่อม และบทสวด เป็นต้น

            การประกอบพิธีกรรมโจลมะม็วด เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุการเกิดโรคและแนวทางในการบำบัดรักษา ในกรณีที่เกิดจากคุณไสยหรือโดนของ หมอมะม็วดจะนำไข่ไก่มาเสกคลึงกับตัวผู้ป่วยจากบนลงล่าง เรียกว่า “เลียก” เป็นการดูดสิ่งเลวร้ายให้ออกจากร่างกายไปอยู่ในไข่   ส่วนขั้นตอนสุดท้ายของพิธีกรรม หมอมะม็วดจะทำพิธีเรียกขวัญ  ชาวบ้านเรียกว่า เฮาปลึง เป็นการทำพิธีเพื่อเรียก ให้ขวัญกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวผู้ป่วย  กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีความเชื่อว่า ขวัญของคนมีลักษณะเหมือนดวงแก้ว  ลักษณะกลมโตเท่ากำมือของผู้ป่วย ขณะทำพิธีหมอมะม็วดจะคร่ำครวญขอให้ขวัญกลับมา  ผู้ร่วมพิธีต่างก็จะพากันร้องเรียกหาแก้วหรือขวัญช่วยหมอมะม็วดให้ขวัญผู้ป่วยกลับเข้าสู่ร่างผู้ป่วย   ซึ่งจะใช้เวลานานมากในการประกอบพิธีแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่พิธีจะเริ่มประมาณหนึ่งทุ่มจนถึงตีหนึ่งตีสอง บางรายถึงรุ่งสว่าง

สามารถสรุปขั้นตอนในพิธีกรรมมะม็วด  ดังนี้ หมอมะม็วดประกอบพิธีไหว้ครู  ต่อมาประทับทรงร่าง  หมอมะม็วดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกจากร่างของผู้ป่วย  โดยใช้ดาบฟันสิ่งชั่วร้าย เมื่อสิ่งชั่วร้ายออกจากร่างผู้ป่วย หมอมะม็วดทำพิธีปลอบขวัญ แล้วเรียกขวัญ  ผูกแขน  และเสี่ยงทาย  โดยในช่วงผูกแขนนี้หมอมะม็วดจะนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนากล่าวสอนสั่งศิษย์และผู้เข้าร่วมพิธีอย่างใกล้  ต่อจากนั้นหมอมะม็วดหมุนขันแล้วออกจากร่างไปเป็นอันเสร็จพิธี  ซึ่งพิธีโจลมะม็วดใช้เวลาประกอบพิธีมากส่วนใหญ่เริ่มช่วงเย็นจนค่ำ บางพิธีจนถึงเช้า

                   อาจกล่าวได้ว่าพิธีโจลมะม็วดเป็นพิธีกรรมที่แฝงไว้ด้วยกุศโลบายในการดึงสมาชิกครอบครัว  เครือญาติ และเพื่อนบ้านในชุมชนมามีส่วนร่วมในการบำบัดรักษาผู้ป่วย  เป็นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ไม่เพียงให้ความสำคัญเฉพาะร่างกาย แต่รวมถึงความสำคัญของจิตใจ  สังคม และจิตวิญญาณด้วย  ในด้านจิตใจคือกำลังใจที่ได้จากสมาชิกครอบครัว  เครือญาติ และเพื่อนบ้านในชุมชนที่มาร่วมให้กำลังใจ มาร่วมแรงจัดพิธีกรรม นำเงินทองของเครื่องใช้มาร่วมบริจาคช่วยเหลือประดุจคนในครอบครัวเดียวกัน ช่วยเหลือตั้งแต่การจัดสถานที่  ค่าหมอมะม็วดทำพิธี  ค่าวงดนตรีกันตรึม  เครื่องไหว้ครูดนตรี  อาหารเลี้ยงนักดนตรี  อุปกรณ์เครื่องประกอบพิธีกรรม เช่น บายศรี เครื่องอาหารคาวหวาน ค่าอาหารเลี้ยงแขกเหรื่อทั้งสมาชิกของครอบครัว เครือญาติ เพื่อนบ้านในชุมชนที่มาร่วมงาน ค่าใช้จ่ายในการจัดพิธีแต่ละครั้งเป็นพันหรือเป็นหมื่น  ดังนั้นจึงเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่กำหนดขึ้นอย่างไม่เป็นทางในชุมชน เป็นการดูแลสุขภาพคนในชุมชนด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์  ด้วยจิตวิญญาณของการให้และเอื้ออาทร  และที่สำคัญคือการร่วมแรงร่วมใจโดยเครือข่ายทางสังคม เมื่อมีการจัดพิธีกรรมโจลมะม็วด แต่ละครัวเรือนจะไป “เล่น” ด้วย     คำว่า “เล่น” นี้ กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรอธิบายว่าคือการนำข้าวของเครื่องใช้เงินทองไปช่วยบ้านที่จัดพิธีกรรม หากใครไปไม่ได้ก็ฝากคนอื่นไปให้   โดยมีความเชื่อว่าหากไม่ไปร่วมช่วยกัน อาจทำให้สมาชิกในครอบครัวจะได้รับเคราะห์กรรมหรือภัยอันตรายต่างๆ ซึ่งหากมีภัยใดเกิดขึ้นชาวบ้านจะกล่าวสมน้ำหน้า ซ้ำเติมว่า “นี่แหละเป็นเพราะมันไม่ไปเล่นช่วยคนอื่นเค้า”

จะเห็นได้ว่าความเจ็บป่วยกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร มิใช่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่เป็นเรื่องของสมาชิกในครอบครัว  เครือญาติ และ เครือข่ายทางสังคม  ถือเป็นวัฒนธรรมการบำบัดรักษาแบบพื้นบ้านที่ร้อยรัดเรียงกันเป็นเสมือนห่วงโซ่สายใยแห่งความผูกพันในชุมชนหรือสังคมนั้นๆ สอดรับกับแนวคิดทฤษฎีโครงสร้างหน้าที่นิยม (Structure and Functionalism) ของ Radcliffe-Brown[๑๑] และ Bronislow Malinowski[๑๒] ที่ว่า ภายในสังคมจะมีการทำหน้าที่ต่างๆอย่างเป็นระบบเพื่อการดำรงอยู่ของแต่ละสังคม โดยส่วนย่อยต่าง ๆ ภายในสังคมจะปฏิบัติงานทำหน้าที่ที่ต่อเนื่องประสานสัมพันธ์กัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ เพื่อมุ่งไปสู่ความหมายที่แท้จริงของความอยู่รอดจากการเจ็บป่วย

.วิถีปฏิบัติของหมอมะม็วด

          กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรเชื่อว่าหมอมะม็วดคือตัวแทนของเทพที่ถือเป็นของสูง และเป็นผู้นำทางคุณความดี หมอมะม็วดจึงมีข้อปฏิบัติและข้อห้ามหรือตอมที่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสำหรับตนเองด้วยเช่นกัน ดังนี้

๑. ปฏิบัติในศีลห้าอย่างเคร่งครัด  ๒. ขึ้นขันธุ์ ๕ ขันธุ์ ๘  ในทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษา โดยการกราบไหว้บอกกล่าวครูบาอาจารย์ ครูรักษาของตน๓.ไม่ประกอบพิธีกรรมในวัน  ๑๕ ค่ำ  คือ วันพระ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม  อีกทั้งไม่ทำพิธีกรรมในบ้านที่มีงานศพ“ถือตัวไม่ได้ก็มองไม่เห็น  ถ้าเราทำผิด  ไม่ทำตามข้อห้าม ครูก็จะไม่อยู่กับเรา” นางสามารถกล่าว   ๔.ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีบุญคุณ โดยเฉพาะเนื้อควาย  หนังควาย อีกทั้งเชื่อว่าเป็นการป้องกันการถูกคุณไสยเข้าตัว นางสามารถอธิบายว่า “ต้องระวังหนังควายเสกเข้าท้อง กินเนื้อควายไปจะโดนของเขาได้ เพราะเป็นพวกเดียวกับหนังควาย  หากกินเหมือนมีเนื้อชนิดของมันอยู่ในตัวเรา  จะทำเสกหนังควายเข้าตัวเราได้ง่าย” ๕. ไม่ลอดราวตากผ้า  ราวบันได  หรือ ไม้ค้ำต่างๆ เช่น ไม้ค้ำต้นไม้ ไม้ค้ำสายไฟ ไม้ค้ำบ้าน หากฝ่าฝืนจะทำให้ตนเองปวดหัว หรือ อาจผิดครูได้ ถ้าผิดจำต้องตั้งขันธ์ ๕ ขันธ์ ๘ ธูปเทียน ขอขมาบูชา  โดยนางสามารถอธิบายว่า“องค์เทพอยู่กับเรา อยู่ในหัวเรา เราจึงต้องไม่ควรมุดลอดของสกปรก”๖.จัดบ้านเรือนให้สะอาด โดยเฉพาะหิ้งบูชา นางสามารถอธิบายว่า“ที่ไหนไม่สะอาด เทพก็ไม่อยากอยู่ด้วย” “เวลาทำพิธีของนี้ถูกใจไหม ถ้าไม่ถูกใจก็ไม่เข้า” บ้านเรือนก็สกปรกไม่ได้ และ ๗. แต่งตัวสุภาพ เรียบร้อย สะอาด ไม่สีฉูดฉาด

.คำสอนสั่งศิษย์ในพิธีกรรมมะม็วด

นอกจากการเคร่งครัดในการปฏิบัติตนของหมอมะม็วดแล้ว หมอมะม็วดซึ่งเชื่อว่าได้รับสั่งสอนจากเทพซึ่งถือเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาให้ยึดถือปฏิบัติในชีวิตประจำวัน  รวมทั้งข้อห้ามหรือตอมในการดำเนินชีวิตแล้ว หมอมะม็วดยังทำหน้าที่สอนสั่งศิษย์ของตนให้ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วยเช่นกัน โดยหมอมะม็วดสั่งสอนให้ศิษย์ปฏิบัติดังนี้

         ๑.  กตัญญูกตเวทีต่อผู้มีคุณ อันได้แก่ บิดามารดา ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ และครูผู้ให้วิชาความรู้ และต้องบูชาครูด้วยดอกไม้ธูปเทียนในที่ๆตนอาศัยอยู่ในวันสำคัญต่างๆ เช่นวันพระ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษาเป็นต้น รวมถึงการไปแสดงความขอบคุณคุณครูบาอาจารย์ด้วยการมาไหว้ครู ในวันไหว้ครูมะม็วดในแต่ละปี ซึ่งจัดขึ้นทุกปี

 ๒. อ่อนน้อมมีสัมมาคาระต่อบิดามารดา  ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ ครูบาอาจารย์ และผู้สูงอายุ พระสงฆ์ พระพุทธรูป และหิ้งบูชาครู โดยให้ถือสิ่งเหล่านี้เป็นของสูง ให้เชื่อและปฏิบัติตามในคำสอน

๓.ปฏิบัติตนอยู่ในศีลในธรรม ทำบุญทำทาน ใส่บาตร ไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ และสวดมนต์ก่อนนอนอย่างสม่ำเสมอ

           ๔.ปฏิบัติตนอยู่ในศีล ๕ ได้แก่ ปฏิบัติตามคำพูดที่ได้รับปากใคร หรือที่ได้ลั่นวาจาไว้ ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดด่าว่าบุคคลอื่น โดยเฉพาะกับบุพการีของตน ไม่เล่นชู้ ไม่นอกใจสามีหรือภรรยาตน ไม่ลักทรัพย์ ไม่เอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ไม่ดื่มสุรา เสพยาเสพติด ไม่เล่นการพนัน 

๕.ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด โดยเฉพาะที่หิ้งบูชา

๖.แต่งกายสะอาดสุภาพ ไม่โป๊ไม่เปลือย ที่อาจส่งผลร้ายจากเพศตรงข้ามได้        

.จิตวิญญาณความเป็นพุทธของหมอมะม็วดกับคำสอนสั่งศิษย์ด้วยหลักธรรมทางพุทธศาสนา

  ด้วยเหตุที่กลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรมีความเชื่อเรื่องผีและสิ่งเหนือธรรมชาติมาแต่โบราณ  ต่อมารับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์  และกาลเวลาผ่านไปกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรรับการนับถือพระพุทธศาสนาที่เข้ามาร่วมอีกครั้ง  ทำให้ปัจจุบันจึงมีการผสมผสานความเชื่อทั้งสามนี้อยู่ในพิธีกรรมต่างๆ โดยเฉพาะพิธีกรรมโจลมะม็วด  ดังนั้นนอกจากการปฏิบัติต่อผีและวิญญาณในทางพิธีกรรมแล้ว หมอมะม็วดยังนำหลักธรรมทางพุทธศาสนามายึดหลักในการปฏิบัติตนพร้อมสอดแทรกคำสอนทางพระพุทธศาสนาเข้าไปในพิธีกรรมอีกด้วย

 จากปรากฏการณ์ของการบำบัดรักษาของหมอมะม็วดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรในจังหวัดสุรินทร์  สามารถสรุปได้ว่า การปฏิบัติตนของหมอมะม็วดเพื่อเป็นแบบอย่างกับศิษย์และคำสอนของหมอมะม็วดที่พรำสอนศิษย์ยึดปฏิบัตินั้นมาจากตัวตนความเป็นพุทธของหมอมะม็วด โดยนำคำสอนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาสอดแทรกประยุกต์ใช้ให้อยู่วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมร ซึ่งสามารถหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ปรากฏอยู่ในพิธีกรรม ได้ดังนี้

.ความกตัญญูกตเวที

ปรากฏการณ์สำคัญที่มีให้เห็นอย่างชัดเจนในพิธีโจลมะม็วดคือ ความกตัญญูกตเวที จะเห็นได้จากการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ตายที่ล่วงลับไปแล้วให้ได้รับส่วนบุญส่วนกุศล และเพื่อเป็นแสดงความเคารพต่อดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย  และญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว  ด้วยการนำสำรับเครื่องคาวหวาน หมากพลู  ขนม ข้าวต้ม  บุหรี่ และอื่นๆ ให้แก่บรรพบุรุษ

 นอกจากนี้หมอมะม็วดมีวิถีปฏิบัติที่ต้องทำเป็นประจำคือการทำขันธุ์ ๕ หรือขันธุ์ ๘ บูชาครู ในทุกวันพระ ๑๕ ค่ำ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา และวันสำคัญต่างๆในทางพุทธศาสนา เพื่อกราบไหว้ครูบาอาจารย์ และครูรักษาของตน ซึ่งเป็นการแสดงถึงการระลึกถึงคุณครูบาอาจารย์ตลอดเวลา  โดยไม่ลืมผู้มีพระคุณที่ประสิทธิประสาทวิชาให้  อีกทั้งหมอมะม็วดไม่รับประทานสัตว์ใหญ่ โดยเฉพาะวัว ควาย ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณ ไถนาให้ได้รับประทานข้าวตลอดทั้งปี  เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีคุณ อีกทั้งหมอมะม็วดสั่งสอนศิษย์ให้มีสัมมาคาระต่อผู้เป็น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้สูงอายุ  พระสงฆ์ พระพุทธรูป รวมถึงหิ้งบูชาครู โดยให้ถือเป็นของสูง โดยให้เชื่อและปฏิบัติตามในคำสอน และให้รู้จักกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีคุณ

สอดรับกับที่ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)[๑๓] อธิบายว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นความกตัญญูที่มีต่อบุคคล ผู้มีความดี หรือ อุปการะต่อตนเป็นส่วนตัวอย่างหนึ่ง ความกตัญญูกตเวทีต่อบุคคล ผู้ได้บำเพ็ญคุณประโยชน์ หรือ มีความดีเกื้อกูลแก่ส่วนร่วมเช่นพระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงแสดงความกตัญญูต่อพระพุทธเจ้า โดยฐานะที่ทรงประกาศธรรมยังหมู่ชนให้ตั้งอยู่ในกุศลกัลยาธรรม เป็นต้น อย่างหนึ่ง

.บูชา

         ความเชื่อที่ฝังรากลึกในสิ่งเหนือธรรมชาติที่เชื่อว่าหากไม่มีการเซ่นไหว้ บูชา อาจส่งผลร้ายต่อตนและครอบครัว ดังนั้นการประกอบพิธีกรรมโจลมะม็วด จำต้องมีเครื่องไหว้ครูที่ครบครัน โดยเฉพาะบายศรีไหว้ครู ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีเพื่อบูชาพระรัตนตรัยด้วย บูชาเทพเทวดาชั้นสูง โดยต้องกระทำอย่างเคร่งครัด ตามชั้นของเทพ เช่น หากเป็นเทพชั้นสูงซึ่งควรต้องเป็นบายศรี ๙ ชั้นขึ้นไป หากเป็นบายศรีที่มีชั้นต่ำกว่า เทพนั้นจะไม่พอใจและไม่มาเข้าทรงและช่วยบำบัดผู้ป่วยได้

การบูชาในพิธีกรรมโจลมะม็วดเป็นการสักการะ เป็นการแสดงความเคารพนับถือ บูชา และนอบน้อมต่อสิ่งเหนือธรรมชาติที่เลื่อมใส รวมถึงการสวดขอร้องอ้อนวอน เพื่อการทำนายหรือพยากรณ์ เพื่อหวังขอการคุ้มครองบำบัดรักษาและความปลอดภัยของชีวิต สำหรับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาในการบูชาที่ปรากฏในพิธีกรรมโจลมะม็วตของกลุ่มชาติพันธุ์จังหวัดสุรินทร์คือ ๑) การบูชาพระสงฆ์ เพราะว่าพระสงฆ์เป็นสาวกของพระพุทธองค์ พระสงฆ์สามารถประกอบพิธีกรรมสังฆกรรมตามวินัยกำหนด ๒) การบูชาบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้มีคุณแก่ลูกหลาน

.ศีล ๕

ศีล ๕ เป็นข้อปฏิบัติพื้นฐานเบื้องต้นของชาวพุทธ ซึ่งหมอมะม็วดได้นำศีล ๕ มาเป็นคำสอนที่สอดแทรกอยู่พิธีกรรม โดยการสั่งสอนให้ศิษย์และผู้เข้าร่วมพิธีกรรมปฏิบัติตามดังนี้ ๑.ห้ามฆ่าสัตว์ ไม่ให้เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และคนอื่นทั่วไป นั่นก็คือ ปาณาติปาบาด ๒.ห้ามลักทรัพย์ ไม่เอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่เบียดเบียนทรัพย์สมบัติหรือของของผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน นั่นก็คือ อทินนาทานา เวรมณี ๓. ห้ามประพฤติผิดในกาม ไม่เล่นชู้ ไม่นอกใจสามีหรือภรรยาตน ไม่ผิดลูกผิดผัวเมียใคร นั่นก็คือ กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี ๔. ห้ามพูดปด ปฏิบัติตามคำพูดที่ได้รับปากใคร หรือที่ได้ลั่นวาจาไว้ ไม่พูดโกหก ไม่พูดคำหยาบคาย ไม่พูดด่าว่าบุคคลอื่น โดยเฉพาะกับบุพการีของตน นั่นก็คือ มุสาวาทา เวรมณี และ ๕. ห้ามดื่มสุราและเมรัย รวมถึงการเสพยาเสพติด อันถือเป็นที่ตั้งของความประมาท นั่นก็คือ สุราเมรยมัชชปมาทัฎฐานา เวรมณี อันเป็นหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา

นอกจากการสั่งสอนลูกศิษย์ให้ปฏิบัติตามคำสอนแล้ว หมอมะม็วดยังยึดหลักธรรมศีล ๕ มาปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด หมอมะม็วดจึงถือเป็นผู้นำทางคุณความดีในการปฏิบัติดี โดยเฉพาะการปฏิบัติตนตามคำสัญญาที่ให้ไว้กับครูหมอมะม็วดของตนในแต่ละเรื่องอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะช่วงเวลาในการประกอบพิธีกรรมคือห้ามประกอบพิธีกรรมในวัน ๑๕ ค่ำ คือ วันพระ ทั้งข้างขึ้นและข้างแรม อีกทั้งไม่ทำพิธีกรรมในบ้านที่มีงานศพ

.บุญกิริยาวัตถุ ๓

ปรากฏการณ์ที่เห็นเป็นที่ประจักษ์ของหมอมะม็วดคือ บุญกิริยาวัตถุ ๓ ที่ประกอบด้วยทาน ศีล ภาวนา เห็นได้ชัดเจนจากการประกอบพิธีกรรมโจลมะม็วด เครือญาติ และเพื่อนบ้านในชุมชนมาร่วมทำบุญด้วยเงินและข้าวของเครื่องใช้ให้กับบ้านเจ้าภาพงานที่มีคนเจ็บป่วย โดยกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรเชื่อว่า บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน นั่นก็คือ ทานมัย ที่เน้นการให้ทานเพื่อสร้างผลบุญ รวมถึงการทำทาน ใส่บาตร แผ่เมตตาให้สรรพสัตว์ นอกจากนี้การเริ่มพิธีกรรมโจลมะม็วดผู้ร่วมพิธีกรรมจะมีการรักษาศีล ๕ โดยมีการกล่าวสมาทานก่อน รวมถึงการถือศีลรักษาศีล ๕ของหมอมะม็วดและศิษย์ดังที่กล่าวมาข้างต้น นั่นก็คือ สีลมัย ซึ่งหมายถึง บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดีมีระเบียบวินัย อีกทั้งการสวดมนต์ การไปฟังเทศน์ฟังธรรมที่วัด ก็คือ ภาวนามัย โดยเชื่อว่าบุญสำเร็จด้วยการการเจริญภาวนา ด้วยการคือ ฝึกอบรมจิตใจ

ดังที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า บุญกิริยา ๓ นั้นมีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมโจลมะม็วตซึ่งประกอบด้วย ทาน ศีล ภาวนา

.ไตรลักษณ์

สำหรับผู้ป่วยที่เจ็บป่วยรุนแรงหรืออยู่ในช่วงระยะสุดท้ายของโรค ไม่สามารถรักษาที่ใดได้ไม่หาย หมอมะม็วดจะยังคงประกอบพิธีให้ตามขั้นตอนของพิธีกรรม และทำพิธีการเรียกขวัญเพื่อเน้นการให้กำลังใจพร้อมให้คำสอนเกี่ยวกับไตรลักษณ์  ที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อันเป็นธรรมดาของสัตว์โลก ไม่มีใครฝืนความตายไปได้            

          หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะหลักไตรลักษณ์ เป็นหลักความจริงของธรรมชาติหรือเรียกว่าเป็นกฎความจริงของสิ่งมีชีวิตทุกสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นหลักธรรมชาติที่สอนให้ผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยได้รับรู้ได้เข้าใจและยอมรับพร้อมตระหนักในความจริงของชีวิตที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพื่อเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นให้ได้ ทั้งก่อนเกิด ขณะเกิด และหลังเกิดเหตุการณ์ ซึ่งจะต้องฝึกจิตหรือการสร้างพลังใจให้กับตนเองเพื่อเตรียมรับกับความจริงที่เกิด

ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนานั้น ไตรลักษณ์ หมายถึง ลักษณะที่เป็นสามัญทั่วไป ๓ ประการ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความมิใช่ตัวตน สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง อนิจจตา หมายถึงลักษณะที่แสดงถึงความไม่เที่ยง ทุกขตา สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เป็นของคงทนอยู่มิได้ มีสภาวะแห่งความบีบคั้นขัดแย้ง อนตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ความเป็นของมิใช่ตัวตน[๑๔]

๑๐. สรุป

ความเชื่อและพิธีกรรมโจลมะม็วด เป็นความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างผี  พราหมณ์  พุทธ โดยเชื่อในเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติโดยผ่านพิธีกรรมโจลมะม็วต เพื่อการหาสาเหตุความเจ็บป่วย เพื่อการรักษา และเพื่อการเสี่ยงทาย ตลอดถึงเพื่อการเซ่นสรวงบูชาสิ่งเหนือธรรมชาติ  แม้เป็นพิธีกรรมที่โน้มน้าวไปทางสิ่งเหนือธรรมชาติ แต่ด้วยความเป็นชาวพุทธของหมอมะม็วดของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยเขมรจิตวิญญาณจึงแฝงด้วยหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่นำมาใช้สอนศิษย์ให้นำไปปรับใช้ในวิถีชีวิต ซึ่งสรุปได้ว่าหลักธรรมที่ปรากฏและสอดแทรกอยู่ในพิธีกรรมนั้นก็คือ ๑. กตัญญูกตเวที  ๒. บูชา ๓. ศีลห้า ๔.บุญกิริยาวัตถุ และ ๕. ไตรลักษณ์ ที่ช่วยให้ชีวิตปลอดภัยและชุมชนสงบสุข

 

 

 

บรรณานุกรม

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. ความเชื่อและกระบวนการรักษาโรคพื้นบ้าน. ใน ชุมชนพัฒนา.   

(หน้า ๕๔-๕๖). กรุงเทพฯ  :  อมรินทร์พริ้นติ้งกรุ๊ฟ, ๒๕๓๐.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. ระบบการแพทย์พื้นบ้านในชนบท. ศูนย์ประสานงานการพัฒนา

การแพทย์และเภสัชกรรมแผนไทย กองแผนงานสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข, ๒๕๓๕.

โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. คนมองคนบนความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพบนสำรวจ

แนวคิดทางมานุษยวิทยาการแพทย์. เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา เรื่อง คนมองคน นานาชีวิตในกระแสความเปลี่ยนแปลง วันที่ ๒๗-๒๙ มีนาคม ๒๕๔๕ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

ขวัญ. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ ๙. กรุงเทพฯ  : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย

ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒. หน้า  ๒๐๓๐-๒๐๓๒.

งามพิศ สัตย์สงวน. หลักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา, ๒๕๔๕, หน้า ๓๔-๓๖.

ฉลาดชาย รมิตานนท์. ผีเจ้านาย. เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๔๕.

ชาย โพธิสิตา. “ไสยศาสตร์กับการรักษาพยาบาล,” ใน ทฤษฎีและการศึกษาทางสังคมวิทยา 

มานุษยวิทยาการแพทย์. หน้า  ๒๓-๓๔. กรุงเทพ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๒๙.

น้อย ผิวผัน. หนังสือปฐมกัปป์. กรุงเทพฯ : คลังนานาวิทยา, ๒๕๔๕.

บัวพันธ์ พรหมพักพิง. ทุนมนุษย์ ทุนสังคม และชุมชน : วิธีวิทยาใหม่ของการพัฒนา.

ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ๒๕๔๕.

พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,

๒๕๔๖, หน้า ๖๘.

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ,พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒,

กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๕๑. หน้า ๒.

สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ ๘. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทย

พาณิชย์, ๒๕๔๒. หน้า ๒๖๙๗-๒๖๙๘.

สุริยา สมุทคุปติ์. ทรงเจ้าเข้าผี : วาทกรรมของลัทธิและวิกฤตการณ์ของความทันสมัยใน             

สังคมไทย. นครราชสีมา : สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ๒๕๓๙.

สุวิไล เปรมศรีรัตน์. โครงการวิจัยภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. สถาบันวิจัยภาษาและ

วัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๔๒, หน้า ๒๖๙.

อัจฉรา ภาณุรัตน์. พิธีโจลมะม็วต: การรักษาโรคด้วยจิตวิญญาณของชาวไทยเขมร, มหาวิทยาลัย

มหาสารคาม, ความเชื่อไทย – เขมร, ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒ กันยายน - ธันวาคม ๒๕๔๕, หน้า ๔๕ –

๔๘.

Foster, M. George. Medical Anthropology. Health and Health care in The Third

World. New York : John Wiler and Sons, pp, 42 – 47, 1990.

Kleinman, Arthur. Indigeneous System of Healing : Question for professional,

popular and folk care. Alternative Medical, 1984.

Kleinman, Arthur. Patient and Healer in the Context of Culture. Berkeley :

University of Califonia Press, 1980.

Malinowski, Bronislaw. The group  and individual in functional  analysis. American 

Journal of Sociology, 44 :  938 – 64,  1939.

Radcliffe-Brown, Alfred R. Structure and Function in Primitive Society. New York :

The  Free  Press,  1952

 

 

 

 

ประวัติผู้เขียนบทความ

๑.  ชื่อ – นามสกุล (ภาษาไทย)                       ดร.ทักษิณาร์ ไกรราช

     ชื่อ  - นามสกุล (ภาษาอังกฤษ)                   Dr.Thaksina  Krairach  

๒.  หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน     

๓.  ตำแหน่งปัจจุบัน                          อาจารย์

๔.  หน่วยงาน              มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย  วิทยาเขตขอนแก่น

                             ตำบลโคกสี   อำเภอเมือง  จังหวัดขอนแก่น  ๔๐๐๐๐  

                                 มือถือ   ๐๘๘-๕๖๒๓๔๗๔   E-mail thaksina7@gmail.com

๕.ประวัติการศึกษา       

ปริญญาตรี

             พ.ศ. ๒๕๒๘  สำเร็จการศึกษาพยาบาลศาสตรบัณฑิต  (๔  ปี) วิทยาลัยพยาบาล                            

                            พุทธชินราช  พิษณุโลก 

             พ.ศ. ๒๕๓๐ สำเร็จการศึกษาสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต  (บริหารสาธารณสุข) 

                            มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 

ปริญญาโท

            พ.ศ. ๒๕๓๘  สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต  สาขาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์

       (วท.ม.) คณะสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล 

          ปริญญาเอก

            พ.ศ. ๒๕๔๙  สำเร็จการศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  (ปร.ด.) สาขาไทศึกษา  

                           คณะมนุษยศาสตรและสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม                          

๖.  สาขาวิชาที่มีความชำนาญพิเศษ  :    สาขาวิชาวัฒนธรรม  สาขาวิชามานุษยวิทยา และสาขาวิชา

                                                   พระพุทธศาสนา

๗.  ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานวิจัย   การเสนองานวิจัยครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๑

 

 

 

 

 

 

[๑]สุวิไล เปรมศรีรัตน์. โครงการวิจัยภาษาและกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท มหาวิทยาลัยมหิดล, ๒๕๔๒, หน้า ๒๖๙.

[๒]งามพิศ สัตย์สงวน. หลักมานุษยวิทยาวัฒนธรรม. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา, ๒๕๔๕, หน้า ๓๔-๓๖.

[๓] น้อย ผิวผัน. หนังสือปฐมกัปป์. กรุงเทพฯ : คลังนานาวิทยา, ๒๕๔๕, หน้า ๕๑-๕๒.    

[๔] สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่มที่ ๘. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒. หน้า ๒๖๙๗-๒๖๙๘.

[๕] ฉลาดชาย รมิตานนท์ , ผีเจ้านาย ,(กรุงเทพมหานคร : พายัพ ออฟเซท พรินท์, ๒๕๒๗), หน้า ๑๔๒.

[๖]อัจฉรา ภาณุรัตน์. พิธีโจลมะม็วต: การรักษาโรคด้วยจิตวิญญาณของชาวไทยเขมร, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, ความเชื่อไทย – เขมร, ปีที่ ๒๑ ฉบับที่ ๒ กันยายน - ธันวาคม ๒๕๔๕, หน้า ๔๕ -๔๘.

[๗] ฉลาดชาย รมิตานนท์. ผีเจ้านาย. เชียงใหม่ : มิ่งเมือง, ๒๕๔๕.

[๘] โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์. คนมองคนบนความหลากหลายของวัฒนธรรมสุขภาพบนสำรวจแนวคิดทางมานุษยวิทยา

การแพทย์. เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยา เรื่อง คนมองคน นานาชีวิตในกระแสความ

เปลี่ยนแปลง วันที่ ๒๗-๒๙ มีนาคม ๒๕๔๕ ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).

[๙] Kleinman, Arthur. Patient and Healer in the Context of Culture. Berkeley :

University of Califonia Press, 1980.

[๑๐] อ้างแล้ว.

[๑๑] Radcliffe-Brown, Alfred R. Structure and Function in Primitive Society. New York :

The Free Press, 1952

[๑๒] Malinowski, Bronislaw. The group and individual in functional analysis. American

Journal of Sociology, 44 : 938 – 64, 1939.

 

[๑๓]พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต) ,พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์, พิมพ์ครั้งที่ ๑๒, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๕๑).หน้า ๒.

[๑๔]พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม, (กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๔๖), หน้า ๖๘.