เครือข่ายการเรียนรู้ : กระบวนการสร้างและการใช้ความรู้ในวรรณกรรมสินไซ

บทความวิจัยเรื่อง

เครือข่ายการเรียนรู้ : กระบวนการสร้างและการใช้ความรู้ในวรรณกรรมสินไซ

สู่การพัฒนาสังคมของชาวจังหวัดขอนแก่น

Learning network : The Process of Creating and Using Knowledge in Synshai Literature  to Social Development

of Khon Kaen People

ผู้วิจัย

รศ.ดร.โสวิทย์  บำรุงภักดิ์  ดร.ทักษิณาร์ ไกรราช

คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น

         

บทคัดย่อ

 

          การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ได้แก่ เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของวรรณกรรมสินไซในบริบทสังคมอีสานและจังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาวรรณกรรมสินไซในการเปิดพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ของชาวจังหวัดขอนแก่น และเพื่อศึกษาเครือข่ายการเรียนรู้ในกระบวนการสร้างและใช้ความรู้จากวรรณกรรมสินไซสู่การพัฒนาสังคมของชาวจังหวัดขอนแก่น เป็นการวิจัยคุณภาพ พื้นที่วิจัยได้แก่วัดไชยศรี บ้านสาวะถีและวัดสนวนวารีพัฒนาราม บ้านหัวหนอง เป็นวัดที่มีสิมที่เขียนฮูปแต้มบอกเล่าสินไซ โรงเรียนบ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง และ โรงเรียนบ้านหัวหนองนาวัวโนนงิ้ว บ้านหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น การศึกษาวิจัยครั้งนี้ใช้ ๕ กิจกรรม ได้แก่ การทอดเทียนพรรษา การวาดฮูปแต้มสินไซ การเป่าแคนสินไซ การแสดงละครเวทีสินไซ และการเป็นมัคคุเทศก์น้อย เป็นกระบวนการสร้างและการใช้ความรู้จากวรรณกรรมสินไซผ่านกิจกรรมทั้ง ๕ กิจกรรมสู่การพัฒนาชุมชน โดยเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ การสัมภาษณ์เชิงลึก แล้วนำเสนอผลการวิจัยด้วยการพรรณนาเชิงวิเคราะห์

 ผลการวิจัยพบว่า วรรณกรรมสินไซเป็นวรรณกรรมที่มานอกปัญญาสชาดก แต่งเป็นร้อยกรองด้วยโคลงวิชชุมาลี โดยท้าวปางคำผู้มาปกครองเมืองหนองบัวลุ่มภู จังหวัดหนองบัวลำภูในปัจจุบัน และจัดเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่มีการแพร่หลายมากในภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งได้ปรากฏร่องรอยแห่งอิทธิพลของสินไซ เช่น หมอลำทำนองสินไซ หนังตะลุงสินไซ ท่าฟ้อนรำสินไซ ฯลฯ หากกล่าวเฉพาะจังหวัดขอนแก่นซึ่งเป็นพื้นที่วิจัยมีอยู่ ๒ แห่งคือวัดไชยศรี อำเภอเมือง และวัดสนวนวารีพัฒนาราม อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น วัดทั้ง ๒ แห่งมีสิมที่บอกเล่าเรื่องสินไซเป็นฮูปแต้มตลอดทั้งหลัง และที่โรงเรียนบ้านสาวะถีและโรงเรียนบ้านหัวหนองนาวัวโนนงิ้ว มีหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ๒ แห่งที่นำชื่อเมืองและตัวละครในเรื่องสินไปตั้งชื่อถนนและห้องประชุม คือเทศบาลตำบลสาวะถีตั้งชื่อถนนคือถนนสีโห ถนนเป็งจาล เป็นต้น และเทศบาลนครขอนแก่นตั้งชื่อห้องประชุม คือ ห้องประชุมสินไซ ห้องประชุมอโนราธ เป็นต้น

 กระบวนการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และการใช้ความรู้จากวรรณกรรมสินไซสู่การพัฒนาบ้านและโรงเรียน เริ่มต้นที่คณะผู้วิจัยนำหนังสือสินไซซึ่งเป็นฉบับใบลานที่เชื่อว่าเป็นฉบับของเมืองขอนแก่น ไปถวายเจ้าอาวาสและได้ให้ความรู้วรรณกรรมสินไซแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้รักษาศีล ๘ โดยแบ่งกลุ่มเล่าสินไซ และทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาด้วยการร้องสรภัญญ์สินไซ ส่วนกระบวนการสร้างและการใช้ความรู้เรื่องสินไซสู่นักเรียนนั้น เริ่มต้นที่คณะผู้วิจัยได้เชิญชวนนักเรียนของโรงเรียนทั้ง ๒ แห่งเพื่อรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม ๔ กิจกรรม ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องสินไซแก่นักเรียนในโรงเรียน และทำกิจกรรมต่างๆ ไปตามขั้นตอนที่กำหนด ผลที่ปรากฏคือคณะอุบาสกอุบาสิการ้องสรภัญญ์ทำนองสินไซได้ นักเรียนของโรงเรียนทั้ง ๒ แห่งได้สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือได้ภาพตัวละคร สัตว์ ป่าไม้ ฯลฯ มีคณะหมอแคนสินไซ มีคณะละครเวทีสินไซ มีคณะมัคคุเทศก์น้อยช่วยบอกเล่าสินไซ และได้สิ่งที่เป็นนามธรรมคือนักเรียนมีความกตัญญู มีความกล้าหาญ มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความซื่อสัตย์ และมีความอดทน

คำสำคัญ : การพัฒนาสังคม, กระบวนการสร้าง, การใช้ความรู้, สินไซ

 

Abstract

          The main objectives of research are – (1) to study the history and development of Synshai  in E-sarn social context and Khon Kaen province, (2) to study Synshai to open social area and learning of Khon Kaen people and (3) to study the learning network about the process of creating and using knowledge in Synshai literature to social development of Khon Kaen people. This is qualitative research by specifying areas at Wat Chaisri Ban Sawathee and Wat Sanuanvareepattanaram Ban Hounong, where there are the Sim with painting about the story of Synshai, Ban Sawathee school, Sawathee Sub-District, Muang District and Ban Hounongnavua-nonngew school, Ban Hounong, Hounong Sub-District, Banphai District, Khon Kaen province.  The researchers had settled for five activities: presenting the candle on the day of Buddhist Lent Day, drawing the painting on the Uposot (preaching hall) wall, blowing the Northeastern reed mouth organ about Synshai, broadway of Synshai, stage show of Synshai, and using a junior guide as the process of creating and using knowledge in Synshai literature with the tool of research such as; in-depth interview, and then presented the result of research by analytical description.

          The results of research found that the literature ‘Synshai’ was out of  Panyasajataka, composed as verse with Vitchumalee poem by Tao Pangkham who was the governor of Nongbualumpoo (Nongbualampoo province) and regarded as Buddhist literature widespread in the Northeastern of Thailand by showing the trace of Synshai’s influence such as: Mor Lam (Northeastern style-singing) with the melody of Synshai, Shadow play of Synshai, Dancing way of Synshai and so on. If mentioning Khon Kaen province as research areas with two places: Temples were Wat Chaisri at Muang district and Wat Sanuanvareepattana at Ban Pai district, where there were the Sim or Uposot (Buddhist Church) in both temples with painting about all stories of Synshai, and schools; Ban Sawathee school and Ban Nongnavua-nonngew school.  There were two townships used the towns and characters in Synshai name roads and meeting rooms; Savathee Municipal district named roads such as: Siho road, Pengjal road etc., Khon Kaen city municipal named meeting rooms such as: Synshai meeting room, Anorath meeting room and so on.

          The process of creating learning network and using knowledge in literature Synshai to develop villages and schools started by the research groups with having books of Synshai in the version of palm leaves and having belief that they were the Khon Kaen versions by offering to the abbots of two temples and giving the knowledge in literature Synshai to Eight precepts-observers by sitting and telling the story of Synshai to each group and doing Buddhist activities; Singing on Sarapanya of Synshai. While telling and singing Sarapanya of Synshai as being the process of creating and using knowledge in Synshai to students, the researchers had invited all students from two schools to take part in all the four activities  in front of the flagstaff, had given knowledge of Synshai to all students at the meeting rooms, and had done all activities following steps with specified times. After all four activities completed, the results were found that the group of Eight precepts-observing Buddhists had sung Sarapanya of Synshai, the group of two schools’ students had drawn the pictures of characters, animals, forests, which appeared on the wall of Sim (Buddhist Church), the group of Mor Kaen of Synshai, the Stage plays, and the small guides had told all stories of Synshai as being concrete things. Regarding abstract things, all students had knowledge of gratitude, bravery, generosity, honesty, and patience.

Keyword : Social development, The Process of Creating, Using Knowledge, Synshai

1. บทนำ

         วรรณกรรมและวรรณคดีเป็นมรดกตกทอดกันมาแต่อดีต และเป็นกระจกสะท้อนภาพสังคมตามยุคสมัยที่แต่ง จึงทำให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาหาความรู้ในด้านต่างๆ เช่น ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ค่านิยม เป็นต้น วรรณกรรมมีหลายประเภทได้แก่ วรรณกรรมพระพุทธศาสนา วรรณกรรมคำสอน ฯลฯ แต่วรรณกรรมส่วนใหญ่มักมีเค้ามาจากนิทาน ซึ่งอาจจะเป็นนิทานปรัมปรา นิทานชาดก นิทานพื้นบ้าน หลายชาติมีนิทานเป็นของตนเอง วรรณกรรมจึงจัดเป็นงานสำเร็จรูปที่เป็นประเภทลายลักษณ์หรือมุขปาฐะ หรือไม่ก็เป็นงานที่สร้างขึ้นอย่างประณีตบรรจง หรืออุบัติขึ้นด้วยความมีอัจฉริยะของผู้สร้าง (สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์, 2525: คำนำ) แต่หากกล่าวเฉพาะในท้องถิ่นภาคอีสาน วรรณกรรมส่วนใหญ่จะมาจากนิทานชาดก วรรณกรรมบางเรื่องเช่น จำปาสี่ต้น ท้าวก่ำกาดำ เป็นต้น ล้วนเป็นที่รู้จักกันดีในภาคเนือและภาคอีสาน (ธวัช ปุณโณธก, 2522:26) วรรณกรรมสำคัญที่อาณาจักรล้านช้างกับชาวอีสานรู้จักกันเป็นอย่างดีเรื่องหนึ่ง คือวรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัย อันเนื่องมาจากลักษณะคุณค่าทางวรรณคดีอันสูงส่ง ซึ่งเป็นผลมาจากความสามารถในอักษรศาสตร์ และการประพันธ์ของบรรพบุรุษชาวอีสาน ที่ได้ถ่ายทอดลักษณะความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ความเชื่อ วรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยเป็นเรื่องที่มีบทบาทให้ความบันเทิงในหลายรูปแบบ เช่น นำไปเล่นหมอลำและหนังประโมทัย เป็นต้น (เรื่องเดียวกัน, หน้า 96) วรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยมีลักษณะเด่นในด้านรูปแบบภาษา เนื้อหาและสำนวนโวหารที่มีคุณค่าทางวรรณศิลป์ นอกจากนี้ยังทรงคุณค่าด้านความรู้ที่ถือเป็นแนวปฏิบัติในสังคมอีสานตั้งแต่ในอดีต เช่น รัฐศาสตร์ สุนทรียศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น (จินดา ดวงใจ, 2506: คำนำ) หากกล่าวเฉพาะเรื่องสังข์ศิลป์ชัยถือว่าเป็นตัวแทนแห่งวรรณกรรมอีสานได้ทั้งหมด เพราะมีเนื้อเรื่องยาวและเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลาย จัดเป็นวรรณกรรมที่จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรประเภทร้อยกรอง ที่ผูกเป็นถ้อยคำขึ้นตามลักษณะของฉันทลักษณ์ภาคอีสาน เช่น โคง กาบ กอนลำ ฮ่าย ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องยาวๆ ซึ่งเรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็รวมอยู่ในประเภทนี้ด้วย (จารุวรรณ ธรรมวัตร, 2521:18)

การแพร่หลายหรือการเข้ามาของวรรณกรรมสินไซ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากหลักฐานการค้นพบหนังสือผูกหรือหนังสือใบลานเรื่องสินไซที่จังหวัดมหาสารคาม มีจำนวน 131 ผูก 3,524 ลาน ที่จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 265 ผูก การแพร่หลายมีในหลายรูปแบบ เช่น การนำเรื่องสินไซไปแสดงเป็นหมอลำ หนังประโมทัย ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ปรากฏในจังหวัดเลย ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี และบุรีรัมย์ (กัญญา บุรีรัตน์, 2523:18) จะอย่างไรก็ตามวรรณกรรมสินไซนี้จัดได้ว่าเป็นวรรกรรมอมตะที่ควรค่าแก่การศึกษา ดังเป็นที่รู้จักกันในหมู่ผู้อ่านวรรณคดีว่า วรรณคดีภาคกลางถ้าไม่รู้จักสามก๊กดูเหมือนจะจืดชืดแห้งแล้ง ฉันใด นักอ่านวรรณคดีอีสานถ้าไม่รู้เรื่องสังข์ศิลป์ชัยก็จะจืดชืดและแห้งแล้ง ฉันนั้นเหมือนกัน (สิริวัฒน์ คำสันสา, 2524: 108)

เมื่อเรื่องสินไซได้แพร่กระจายไปทั่วภาคอีสาน ในลักษณะสถิตมั่นอยู่ในวิถีชีวิตของชาวอีสานตามที่กล่าวมาข้างต้น ถือว่าเป็นอิทธิพลของสินไซโดยแท้ แต่เป็นเรื่องราวในอดีต ส่วนในปัจจุบันสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของสินไซที่มีต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานจนถึงทุกวันนี้ ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากกรณีที่ผู้บริหารเทศบาลนครขอนแก่นได้ประกาศใช้คำว่า สินไซ เป็นคำเรียกขานของชาวจังหวัดขอนแก่น (หนังสือพิมพ์อีสานนิวส์, 2548:8)  นอกจากนี้เทศบาลนครขอนแก่นยังได้พิมพ์เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับสินไซ จำนวน 2 เล่ม ได้แก่ คุณธรรมที่เสนอผ่านตัวละครในวรรณกรรมสินไซ และ ฮูปแต้ม...แต้มใจเยาวชนคนขอนแก่น (โสวิทย์ บำรุงภักดิ์, 2548) ในปี 2550 ได้พิมพ์เป็นแบบเรียนของนักเรียนในโรงเรียนที่สังกัดเทศบาลนครขอนแก่น จำนวน 11 โรง ในปี 2554 จังหวัดขอนแก่นเป็นเจ้าภาพกีฬาแห่งชาติ ได้ใช้รูปปั้นสินไซเป็นสัญลักษณ์ลอยไปจุดไฟที่กระถางคบเพลิงแห่งการแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และการปรากฏของสีโห (ตัวสีเขีว หัวเป็นสิงห์ ตัวเป็นช้าง หางเป็นม้า) และสินไซถือธนูพร้อมลูกศรยืนบนหอยสังข์สถิตมั่นอยู่บนหัวเสาไฟฟ้าบริเวณรอบๆศาลหลักเมือง ด้านหน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น และเทศบาลนครขอนแก่นได้นำชื่อตัวละครและชื่อเมืองในเรื่องสินไซไปตั้งเป็นชื่อห้องประชุม เช่น ห้องประชุมกุสราช ห้องประชุมเป็งจาล เป็นต้น (สัมภาษณ์ เรืองชัย ตราชู, 2558) ในปัจจุบันนอกจากเทศบาลนครขอนแก่นยังมีเทศบาลสาวะถีที่ ได้นำชื่อตัวละครและชื่อเมืองในวรรณกรรมเรื่องสินไปตั้งเป็นชื่อถนน เช่น ถนนสินไซ ถนนเป็งจาล เป็นต้น และยังมีนายทฤธิรงค์ ศิริพูล ครูโรงเรียนแก่นนครวิทยาลัยได้นำชื่อตัวละครชื่อ สีโหไปตั้งเป็นชื่อการแข่งขันฟุตบอลในชื่อ สีโหลีกจนเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในจังหวัดขอนแก่น

รายละเอียดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นภาพความเป็นมาและอิทธิพลของวรรณกรรมสินไซ ในบริบทสังคมอีสานและจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้วิจัยสนใจการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการใช้ความรู้จากวรรณกรรมสินไซสู่การพัฒนาสังคมของชาวจังหวัดขอนแก่น โดยยึดแนวทางและวิธีการของเจ้าอาวาสวัดไชยศรี บ้านสาวะถี อำเภอเมือง และเจ้าอาวาสวัดสนวนวารีพัฒนาราม บ้านหัวหนอง อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อนำไปเป็นแบบอย่าง (Model) ของกระบวนการสร้างการเรียนรู้วรรณกรรมสินไซให้แพร่หลาย และสถิตมั่นอยู่ในวิถีชีวิตและจิตใจของประชาชนใน 2 หมู่บ้านต่อไป

 

2. วัตถุประสงค์

            โครงการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่

               1. เพื่อศึกษาประวัติและพัฒนาการของวรรณกรรมไซในบริบทสังคมอีสานและจังหวัดขอนแก่น

               2. เพื่อศึกษาผลการใช้วรรณกรรมพื้นบ้านสินไซในการเปิดพื้นที่ทางสังคมในการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาบ้านและโรงเรียนของชาวจังหวัดขอนแก่น

               3. เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้และการใช้ความรู้ในวรรณกรรมพื้นบ้านสินไซสู่การพัฒนาสังคมของชาวจังหวัดขอนแก่น

 

3. วิธีดำเนินการวิจัย

          การวิจัยนี้เป็นการวิจัยภาคสนาม (Field Work) ศึกษาข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Data) ระดับปัจเจกบุคคล โดยใช้แบบสัมภาษณ์ การเก็บรวบรวมข้อมูลกับประชากร 3 กลุ่ม คือ วัด ได้แก่ วัดไชยศรีกับวัดสนวนวารีพัฒนาราม บ้าน ได้แก่ บ้านสาวะถีกับบ้านหัวหนอง และโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์) กับโรงเรียนบ้านหัวหนองนาวัวโนนงิ้ว อำเภอเมืองและอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น การให้ข้อมูลเชิงสัมภาษณ์เจ้าอาวาส จำนวน 2 รูป ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 2 คน ครูผู้ฝึกสอน จำนวน 6 คน นักเรียนผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 30 คน อุบาสกอุบาสิกาผู้ร้องสรภัญญ์ จำนวน 13 คน และภาคีเครือข่าย จำนวน 40 คน คณะผู้วิจัยได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องสินไซแก่อุบาสกอุบาสิกาและนักเรียน การจัดกิจกรรมต่างกับผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครู การขอสัมภาษณ์ การบันทึกคำสัมภาษณ์ การถอดข้อมูลเชิงสัมภาษณ์ นอกจากนี้ในระหว่างการทำกิจกรรมยังมีการสอบถาม การสนทนา การมีส่วนร่วม และการสังเกตไปพร้อมๆ กันด้วย โดยตั้งวัตถุประสงค์ของการวิจัยเป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีการทดสอบแบบสัมภาษณ์ ตลอดทั้งทดสอบการประมวลผลตามแบบสัมภาษณ์ที่สร้างขึ้น สำหรับข้อมูลที่เก็บได้อยู่ในช่วงระหว่างเดือน เมษายน  ถึงเดือน ตุลาคม ๒๕๕๘

 

4. ผลการวิจัยและอภิปรายผล

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับเครือข่ายการเรียนรู้ ซึ่งเป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการใช้หรือการนำความรู้จากวรรณกรรมสินไซสู่การพัฒนาสังคมของชาวจังหวัดขอนแก่น สรุปผลการศึกษาวิจัยได้ว่าวรรณกรรมสินไซในภาคอีสานมีแพร่หลายในรูปหนังสือผูกหรือหนังสือใบลานที่จาร(เขียน)ด้วยอักษรไทยน้อย เป็นวรรณกรรมที่มานอกปัญญาสชาดกและมีลักษณะเลียนแบบชาดก แก่นของเรื่องมี 2 ด้านคือด้านที่เป็นอกุศลหรืออธรรม ได้แก่ ความอยาก ความกระสัน ความริษยา ซึ่งสัมพันธ์กับประคอง เจริญจิตรกรรม ได้ศึกษาเรื่องวรรณกรรมอีสาน : สังข์ศิลป์ชัย ผลการศึกษาพบว่าแก่นของเรื่องเป็นการพลัดพราก การผจญภัย เป็นต้น และด้านที่เป็นกุศลหรือธรรม ได้แก่ การให้อภัย การยอมขอขมา การรู้จักปรองดอง การแต่งจะเป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง หากแต่งเป็นร้อยกรองจะแต่งด้วยโคลงวิชชุมาลี แต่งโดยท้าวปางคำผู้มาปกครองเมืองหนองบัวลุ่มภู (จังหวัดหนองบัวลำภู) ในรัชสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ซึ่งสอดคล้องกับกัญญา บุรีรัตน์ ได้ศึกษาวิจัยวรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยในเชิงประวัติ ผลการศึกษาพบว่าผู้แต่งคือท้าวปางคำและแต่งในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช  และจัดเป็นวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่มีการแพร่หลายมากในภาคอีสานของประเทศไทย ซึ่งได้ปรากฏร่องรอยแห่งอิทธิพลของสินไซ เช่น หมอลำทำนองสินไซ หนังตะลุงสินไซ ท่าฟ้อนรำสินไซ ฯลฯ

สำหรับพื้นที่วิจัยผู้วิจัยได้กำหนดพื้นที่วิจัย 2 แห่งคือ วัด ได้แก่ วัดไชยศรี บ้านสาวะถี และวัดสนวนวารีพัฒนาราม บ้านหัวหนอง วัดทั้ง 2 วัดมีสิมหรืออุโบสถที่บอกเล่าเรื่องสินไซผ่านภาพวาดหรือฮูปแต้มตลอดทั้งหลัง และโรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนบ้านสาวะถี อำเภอเมือง และโรงเรียนบ้านหัวหนองนาวัวโนนงิ้ว อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น หากกล่าวเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นมี 2 หน่วยงานคือเทศบาลสาวะถี บ้านสาวะถี และเทศบาลนครขอนแก่น ได้นำชื่อตัวละครและชื่อเมืองไปตั้งเป็นชื่อถนนและห้องประชุม เช่น ถนนสีโห ถนนอโนราธ ถนนหอยสังข์ ห้องประชุมสินไซ ห้องประชุมสุมณฑา ห้องประชุมเป็งจาล ฯลฯ ที่เป็นกรณีพิเศษคือเทศบาลนครขอนแก่นได้นำประติมากรรมรูปปั้นสีโห ขึ้นตั้งอยู่บนเสาไฟฟ้าหน้าประตูเข้าเมืองขอนแก่น และประติมากรรมรูปปั้นสินไซกับหอยสังข์ยืนเด่นตระหง่านอยู่บนเสาไฟฟ้าบริเวณด้านหน้าทางเข้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น

 ส่วนกระบวนการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และการใช้ความรู้จากวรรณกรรมสินไซสู่การพัฒนาสังคมคือบ้านและโรงเรียนนั้น เริ่มต้นที่คณะผู้วิจัยเดินทางสำรวจพื้นที่วิจัยที่ 2 แห่ง จากนั้นได้นำหนังสือสินไซซึ่งเป็นฉบับใบลานที่จารึกหรือจารด้วยตัวอักษรไทยน้อย และเชื่อว่าเป็นฉบับของเมืองขอนแก่น ไปถวายเจ้าอาวาสทั้ง 2 วัด และมอบแก่โรงเรียนทั้ง 2 แห่ง กล่าวเฉพาะวัดทั้ง 2 วัดคณะผู้วิจัยได้ให้ความรู้วรรณกรรมสินไซแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้รักษาศีล 8 ที่วัดทั้ง 2 วัด โดยการเล่าเรื่องสินไซเป็นกลุ่มๆ และทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาคือการทอดเทียนพรรษาผ่านการร้องสรภัญญ์ที่เป็นทำนองสินไซ และกล่าวเฉพาะโรงเรียนคณะผู้วิจัยได้เชิญชวนนักเรียนของโรงเรียนทั้ง 2 แห่งที่หน้าเสาธงเพื่อรับสมัครนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 4 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการวาดภาพเชิงคัดลอกฮูปแต้มที่ฝาผนังสิม กิจกรรมการเป่าแคนทำนองสินไซ กิจกรรมการแสดงละครเวที และกิจกรรมมัคคุเทศก์น้อย เมื่อได้นักเรียนครบตามจำนวนของกิจกรรมแล้ว คณะผู้วิจัยได้ให้ความรู้เรื่องเรื่องสินไซแก่นักเรียนที่ห้องประชุมของโรงเรียน และทำกิจกรรมต่างๆ ไปตามวิธีการ ขั้นตอนและระยะเวลาตามที่กำหนดร่วมกัน หลังจากทำกิจกรรมการทอดเทียนพรรษาผ่านการร้องสรภัญญ์แล้ว ผลที่ปรากฏคือคณะอุบาสกอุบาสิกาได้ทำบุญทอดเทียนพรรษาและมีความสุขกับการได้ร้องสรภัญญ์ทำนองสินไซ นักเรียนของโรงเรียนทั้ง 2 แห่ง ได้สิ่งที่เป็นรูปธรรมคือ ได้ภาพตัวละคร สัตว์ ป่าไม้ ภูเขาและแม่น้ำที่ปรากฏบนฝาผนังสิม ได้คณะหมอแคนสินไซ ได้คณะละครเวที ได้คณะมัคคุเทศก์น้อยช่วยบอกเล่าสินไซประจำโรงเรียน และได้สิ่งที่เป็นนามธรรมคือนักเรียนมีความกตัญญูรู้คุณของบรรพบุรุษในท้องถิ่นบ้านของตนเอง มีความกล้าหาญที่จะสืบสานสิ่งดีงามในชุมชน มีความเอื้ออาทรต่อกัน มีความซื่อสัตย์ มีความรับผิดชอบ มีความอดทน และมีความรู้สำคัญคือการรู้จักรอคอยจากบผญาที่ว่า ให้ยาวๆ ไว้คือสินไซฟันไห่ ปีนี้ป้ำปีหน้าจั่งค่อยฮอน นางเอยและการให้รู้จักค่าของคนจากคำคมที่ว่า คนดีนั้น คนเดียว กะมีค่า คนชั่วนั้น มีน้อย กะส่ำหลาย ทั้ง 2 บทเป็นบทที่คณะผู้วิจัยนำเสนอในลักษณะเกริ่นนำทุกครั้งก่อนการให้ความรู้สินไซ

 

5. ข้อเสนอแนะ

5.1 ข้อเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ

          การศึกษาวิจัยครั้งนี้ช่วยให้มองเห็นว่ายังมีกระบวนการสร้างและการใช้หรือการนำความรู้จากวรรณกรรมสินไซสู่การพัฒนาชาวบ้าน เด็ก เยาวชนในชุมชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเสนอแนะเชิงปฏิบัติการ ดังนี้

          (1) การทำงานแบบประสานสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงเข้าหากัน ยังมีความจำเป็นและสำคัญต่อการทำงานในเชิงปฏิบัติการ การทำวิจัยภาคสนามครั้งนี้เป็นเหตุให้คณะผู้วิจัยได้มองเห็นภาพของ บ้าน วัด โรงเรียนในคำสำเร็จที่ว่า บวรได้กระจ่างชัดมากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่าการทำงานโดยเฉพาะงานเชิงวัฒนธรรม ผู้ทำงานจำเป็นต้องดึงบ้านวัดและโรงเรียนให้เข้ามาปฏิบัติการร่วมกันบนแนวทางและวิธีการอันเดียวกัน งานต่างๆ คงจะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ

          (2) การทำงานของพระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี ท่านเป็นนักประสานหน่วยงานอื่นได้เป็นอย่างดี เช่น โรงเรียนในเขตชุมชนสาวะถี เทศบาลสาวะถี และที่เป็นหน่วยงานนอกชุมชนสาวะถี ได้แก่ ศูนย์วัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น เป็นต้น การทำงานในเชิงปฏิบัติการคือการประสานเพื่อให้คนอื่นหน่วยงานอื่นให้มารู้จักวัดไชยศรี หรือเมื่อคนอื่นหน่วยงานอื่นเข้าไปวัดๆ ก็ต้องให้คำตอบคำอธิบายในสิ่งที่ต้องการได้ตามสมควร

(2) สังคมปัจจุบันเป็นสังคมสื่อออนไลน์ เด็กและเยาวชนมีเวลาอยู่กับสื่อมากกว่าอยู่กับวัด(พระสงฆ์เป็นสื่อกลาง) และมากกว่าอยู่กับโรงเรียน(ครูเป็นสื่อกลาง พระสงฆ์กับครูจะต้องเป็นที่พึ่งของเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากวัดไชยศรีที่ได้กำหนดทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับฮีต 12 คอง 14 เช่น กิจกรรมบุญข้าวประดับดิน บุญข้าวจี่ เพราะฉะนั้น แนวทางและวิธีการทำงานของเจ้าอาวาสวัดไชยศรี จึงถือเป็นการทำงานเชิงปฏิบัติการที่วัด บ้าน โรงเรียนหน่วยงาน องค์กรต่างๆ ควรนำไปปรับใช้ตามบริบทของแต่ละแห่งได้ตามความเหมาะสม

5.2 ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป

          การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษากระบวนการสร้างและการใช้หรือการนำความรู้จากวรรณกรรมสินไซสู่การพัฒนาสังคมคือบ้าน วัดและโรงเรียนของชาวจังหวัดขอนแก่น คณะผู้วิจัยจึงเสนอประเด็นที่ควรนำไปสู่การวิจัยครั้งต่อไปดังนี้

(1) การพัฒนาชาวบ้าน พระสงฆ์ และครู (บ-ว-ร) ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในวรรณกรรมสินไซจนสามารถอ่านตัวบทและเข้าใจตัวบทในรูปของโคลงวิชชุมาลีได้ เพื่อเป็น ชาวบ้านต้นแบบ พระสงฆ์ต้นแบบ ครูต้นแบบของชุมชนนั้นๆ และเป็นหลักของการศึกษาเรียนรู้สินไซให้ยั่งยืนต่อไป

(2) รูปแบบการพัฒนาชาวบ้าน พระสงฆ์และครูภายใต้บริบทวิถีชุมชนและวัฒนธรรมอีสาน เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในวิถีชุมชนของตนๆ และวัฒนธรรมอีสานที่ตนเองพบเห็นอยู่เสมอ

(3)  ข้อปฏิบัติที่ดีงามในวรรณกรรมสินไซ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับอมนุษย์ มนุษย์กับสัตว์ มนุษย์สิ่งแวดล้อม มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ

 

บรรณานุกรม

 

ก. หนังสือ/ตำรา

คําหมาน คนไค.  (2545). ผญา: ภูมิปัญญาอีสาน. กรุงเทพมหานคร : บริษัทสํานักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช

จํากัด.

คณะกรรมการการแข่งขันกีฬาแห่งมิตรภาพและสมานฉันท์ สปิริตนครขอนแก่น. (2551). สินไซเกมส์. ขอนแก่น : หจก.ขอนแก่นการพิมพ์.

จารุวรรณ  ธรรมวัตร. (2521). ลักษณะวรรณกรรมอีสาน. มหาสารคาม : ศิริธรรมการพิมพ์.

จารุบุตร  เรืองสุวรรณ. (2520). ของดีอีสาน. กรุงเทพมหานคร  : โรงพิมพ์ศาสนา.

จินดา ดวงใจ.  สังข์ศิลป์ชัย. ขอนแก่น : คลังนานานวิทยา, ๒๕๐๖.

ชอบ ดีสวนโคก. (2550). วรรณกรรมพื้นบ้าน สินไซ. ขอนแก่น : โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ บรรณาธิการ. (2557). สินไซสองฝั่งโขง. ขอนแก่น : โรงพิมพ์ขอนแก่นการพิมพ์ จำกัด.

ทรงวุฒิ ศริวิไล. (2556). สินไซ. ขอนแก่น : หจก.ขอนแก่นการพิมพ์.

ธีรพล นามวงศ์. (2557). นิทานธรรมคำกลอนอีสานเรื่อง สินไซ ฉบับสมบูรณ์ ปริวรรตจากหนังสือผูกใบลาน. ขอนแก่น : หจก.ขอนแก่นการพิมพ์.

ธวัช ปุณโณทก.  (2522). วรรณกรรมอีสาน. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์โอเดี้ยนสโตร์.

พระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี). (2526). สังข์ศิลป์ไชย์. มหาสารคาม : ไม่ปรากฏที่พิมพ์.

พิษณุ จันทร์วิทัน.   (2524). สังข์สิลป์ชัย. อุบลราชธานี  :  โรงพิมพ์ศิริธรรม.

ปริญญาโณภิกขุ. (2539). ประเพณีโบราณไทยอีสาน. อุบลราชธานี : โรงพิมพ์ศิริธรรม.

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น. (2556). สังสินไซ ฉบับสองภาษา (อักษรไทย-อักษรธรรม).ขอนแก่น : หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

มั่น จงเรียน. (มปป). สังข์ศิลป์ชัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์พิทักษ์อักษร.

วิทย์  ศิวะศริยานนท์.  (2514). วรรณคดีและวรรณคดีวิจารณ์. พิมพ์ครั้งที่สี่.  พระนคร : สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย.

โสวิทย์ บำรุงภักดิ์. (2552). คุณธรรมที่เสนอผ่านตัวละครในวรรณกรรมเรื่อง สินไซ. ขอนแก่น : โรงพิมพ์พระธรรมขันธ์.

__________ . (2552).ฮูปแต้ม...แต้มใจเยาชนคนขอนแก่น. ขอนแก่น : โรงพิมพ์พระธรรมขันธ์.

__________ . (2553).สินไซ. ขอนแก่น : โรงพิมพ์เพ็ญพรินติ้ง จำกัด.

สมบัติ  พลายน้อย. (2526). จิตรกรรมฝาผนังในอีสาน. กรุงเทพมหานคร : ศิลปะบรรณาคาร. 

สิริวัฒน์  คำวันสา. อีสานปริทัศน์ (อีสานคดี ๒). กรุงเทพมหานคร : คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๔.

สุธิวงศ์  พงษ์ไพบูลย์.  (2525). วรรณคดีวิเคราะห์. กรุงเทพมหานคร  : ไทยวัฒนาพานิช. 

สุเนตร โพธิสาร. (2549). สินไซ : ฐานที่มั่นวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย. ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 

อุดม รุ่งเรืองศรี. (2523). วรรณกรรมพื้นบ้านอีสาน. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

อุดม  บัวศรี. (2546). วัฒนธรรมอีสาน. ขอนแก่น : หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

___________ . (2547). ฮูปแต้มสินไซ. ขอนแก่น : หจก.โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.

ข. วิทยานิพนธ์

กัญญา   บุรีรัตน์.   (๒๕๓๐). สังข์ศิลป์ชัย   :   ศึกษาวิเคราะห์วิจารณ์เชิงประวัติ.     วิทยานิพนธ์ศิลป

           ศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.

ประคอง   เจริญจิตรกรรม. (๒๕๑๙). วรรณกรรมอีสาน : สังข์ศิลป์ชัย.   วิทยานิพนธ์อักษรศาสตร

          มหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ประวัติผู้วิจัย

1. ประวัติส่วนตัว

ชื่อ-นามสกุล : รองศาสตราจารย์ ดร.โสวิทย์  บำรุงภักดิ์

          ตำแหน่งปัจจุบัน : อาจารย์สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

                               วิทยาเขตขอนแก่น

          วัน เดือน ปีเกิด : 14 มิถุนายน 2502

ที่อยู่ปัจจุบัน : บ้านเลขที่ 646/31 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น

                  40000

          เบอร์โทรศัพท์มือถือ 089-620-9547,E-mail : sowit_b@hotmail.com

 

2. ประวัติการศึกษา

         

ปีพ.ศ.ที่จบ

วุฒิการศึกษา

สาขาวิชา

สถาบันที่จบ

2523

เปรียญธรรม 7 ประโยค

บาลี

บาลีสนามหลวง

2521

ประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.)

มัธยมศึกษา

กรมการฝึกหัดครู

2527

พุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.)

ปรัชญา

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

2545

Master of Arts

พระพุทธศาสนา

อินเดีย

2552

พุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิต (พธ.ด.)

พระพุทธศาสนา

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

3. ประวัติการทำงาน

ช่วงปี พ.ศ.

ตำแหน่ง

หน่วยงาน

2529

รักษาการในตำแหน่งคณบดีคณะพุทธศาสตร์

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

2532

เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

2535

หัวหน้าสาขาวิชาศาสนาและปรัชญา

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

2537

รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์ขอนแก่น

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

2553

เลขานุการศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วิทยาเขตขอนแก่น

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

 

4. ผลงานด้านวิจัย

             1. การศึกษาความสนใจการศึกษาวิชาภาษาบาลีของนิสิตชั้นปีที่ 1-2 ทุกคณะและทุกสาขาวิชา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ปี 2550

             2. พฤติกรรมความเชื่อในวรรณกรรมเรื่องสังข์ศิลป์ชัยของประชาชนชาวขอนแก่น ปี 2552    

             3. วิเคราะห์การอยู่ก่อนแต่งของประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่นปี 2553

             4. วิเคราะห์การดื่มสุราเมรัยในพระไตรปิฎกผ่านหลักการทางจริยศาสตร์ปี 2555

             5. การเสริมสร้างสุขภาพและองค์ความรู้ของสังคมโดยการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม สุรินทร์ และอุบลราชธานี) ปีพุทธศักราช 2556 (กรกฎาคม 2556 – มิถุนายน 2557)

 

1. ประวัติส่วนตัว

         ชื่อ-นามสกุล : ดร.ทักษิณาร์ ไกรราช

ตำแหน่งปัจจุบัน : อาจารย์สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

                               วิทยาเขตขอนแก่น

ที่อยู่ปัจจุบัน : บ้านเลขที่ 174/15 ถนนถีนานนท์ ตำบลตลาด อ.เมือง จ.มหาสารคาม

          เบอร์โทรศัพท์มือถือ 088-5623474

           E-mail : thaksina7@gmail.com

 

2. ประวัติการศึกษา

ปีพ.ศ.ที่จบ

วุฒิการศึกษา

สาขาวิชา

สถาบันที่จบ

2549

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

สาขาไทศึกษา (มานุษยวิทยาการแพทย์)

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

 

3. ประวัติการทำงาน

ช่วงปี พ.ศ.

ตำแหน่ง

หน่วยงาน

2557

อาจารย์

วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม

 

         

4. ผลงานด้านการวิจัย

           - การวิจัยเรื่อง : สาน 3 วัย : ป้องกันและสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุเบาหวานด้วยแนวทางแห่งวิถีพุทธ ปี 2554

           - การวิจัยเรื่อง : ผลเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน ปี 2556