การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแผลเรื้อรัง
การดูแลผู้ป่วยเบาหวานแผลเรื้อรังด้วยนวัตกรรมภูมิปัญญาทางพุทธศาสนา
Care of Chronic Wounds of Diabetes Patients
Using Buddhist Wisdom Innovations
ดร.ทักษิณาร์ ไกรราช1, ดร.เสถียร ฉันทะ2, ดิษฐพล ใจซื่อ3,
กฤตย์ ไกรราช4, จิตณรงค์ นาใจคง5
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น1
มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย2
วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม3
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม4
Dr. Thaksina Krairach1, Dr. Satian Chunta2,Dittaphol Jaisue3,
Grid Krairach4, Chitnarong Najaikong4
Mahachulalongkornrajavidyalaya University (Khon Kaen Campus)1
Chiang Rai Rajabhat University2
Sri Mahasarakham Nursing College3
Mahasarakham University4
(เผยแพร่บทความวิชาการ วารสารมหาจุฬาวิชาการ Journal of Mahachula Academic ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2558 หน้า 333 - 348)
บทคัดย่อ
บทความวิชาการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอการดูแลแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานด้วยนวัตกรรม
ภูมิปัญญาทางพุทธศาสนา หรือเรียกว่า พุทธวิธี จากการสังเกตเห็นปรากฏการณ์แผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะพิการทุพลภาพ ทุกข์ทรมาน เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และโอกาสดีต่างๆ ทางสังคม รวมถึงเสียค่าใช้จ่ายในการแสวงหาการรักษาจำนวนมาก อีกทั้งส่งผลต่อสุขภาพทางจิต จนเกิดความเครียด มีอาการซึมเศร้า และรู้สึกตนว่าไร้ค่า หากนำปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเรื้อรังไปมองผ่านพุทธวิธีที่เรียกว่า หลักพรหมวิหาร ที่ให้ความเมตตา กรุณา ต่อผู้ป่วยเบาหวานจนก่อเกิดความเพียร มีมานะ และความอุตสาหะ ผู้เขียนได้สร้างนวัตกรรมภูมิปัญญาจากพืชสมุนไพรไทยมาใช้ในการดูแลแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานดังกล่าว รวมถึงให้การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ จนทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีกำลังใจในการต่อสู้กับโรคเรื้อรัง มีความเพียร มีมานะ อุตสาหะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินการอยู่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และรู้จักเลือกใช้นวัตกรรมภูมิปัญญาจากพืชสมุนไพรไทยในการดูแลรักษาตนเอง จนสุขภาพทางกายและใจเป็นปกติ หายจากอาการแผลเรื้อรัง จนมาสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติเหมือนบุคคลทั่วไป
คำสำคัญ: แผลเรื้อรัง, ผู้ป่วยเบาหวาน, นวัตกรรมภูมิปัญญา, พืชสมุนไพรไทย, พุทธศาสนา
Abstract
The article aims to present the care of chronic wounds of diabetes patients using Buddhist wisdom innovations or the so-called Buddhist response. By observing the phenomenon of chronic wounds of diabetes patients as a result of complications often found in diabetes patients, the wounds cause paralysis, suffering, and loss of opportunity to take up an occupation and other loss of good social opportunities, including a lot of expense for the search of cure. They also affect mental health to the degree that the patients become stressed, having depression, and feel worthless. If all these physical and mental problems of the diabetes patients having chronic wounds are looked at in the light of the Buddhist response called Divine Abidings which give loving kindness and compassion to the diabetes patients and that encourages the patients to build perseverance, constant effort and endeavor. The authors have created wisdom innovations from Thai herbal plants and used them in the care of diabetes patients as well as giving them the human heart. Doing so encourages the patients to fight against the chronic disease, to have perseverance, constant effort and endeavor in adjusting their consuming and living behaviors appropriately, and they know how to choose wisdom innovations from Thai herbal plants and use them to cure themselves until their physical and mental health become normal, with no more chronic wounds, and they are able to live normally like any other people.
Keywords : chronic wounds, diabetes patient, wisdom innovation,
Thai herbal plants, Buddhism
1. บทนำ
โรคเรื้อรังถือเป็นปัญหาสาธารณสุขซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ คำว่า โรคเรื้อรัง หมายถึง โรคที่รักษาไม่หายขาด การรักษาเป็นการพยุงไว้ไม่ให้มีการสูญเสียการทำงานของร่างกายที่มากขึ้น โรคเรื้อรังมีหลายประเภท ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเก๊าต์ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคมะเร็ง ฯลฯ แต่ที่เป็นบ่อเกิดให้โรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา คือ โรคเบาหวาน เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่มีปัญหาที่เลือด และหลอดเลือด หากเปรียบเลือดของบุคคลทั่วไปเหมือนน้ำ ที่สามารถไหลอย่างสะดวกที่เปรียบเสมือนท่อประปาหรือในหลอดเลือด แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวานซึ่งมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เลือดมีความหนืดเหนียวข้น จึงไหลไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้น้อย รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานมีหลอดเลือดที่ตีบแข็ง ยืดหยุ่นไม่ดี จึงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ได้ไม่ตามปกติ เกิดโรคอื่นๆ ตามมา หรือที่มักพูดแซวกันเล่น ๆ ว่า เบาหวานและคณะ ซึ่งเมื่อเป็นเบาหวานจะมีโรคและอาการอื่นๆ ตามมาได้แก่ ไขมันในหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดอุดกั้น หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมองแตก อัมพาต และอื่นๆ ตามมาอีกมากมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อน 3 ต. คือ ตา ไต ตีน (เท้า) ซึ่งจากรายงานข้อมูลพบว่าปัจจุบันมีผู้ป่วยเบาหวาน จำนวนมาก สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 76 จังหวัด (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร) ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 - 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555 พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวาน ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 336,265 ราย อุบัติการณ์ 523.24 ต่อประชากรแสนคน โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง ปี พ.ศ. 2551–2555 (สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข, 2556)
จากการสังเกตพบปรากฏการณ์แผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนที่พบมาก ที่มักประสบปัญหา คือมีอาการมึนชาที่อวัยวะส่วนปลาย โดยเฉพาะบริเวณเท้า ลักษณะเท้ามีลักษณะซีดเหลือง ผิวหนา เนื่องจากมีเลือดมาเลี้ยงน้อย หากเท้าได้รับบาดเจ็บหรือเป็นแผล จะทำให้แผลหายยาก กลายเป็นแผลเรื้อรัง นานแรมปี บางครั้งอาจเกิดการติดเชื้อ ลามถึงกระดูก หลายรายต้องตัดนิ้วเท้า เท้า และขา ในที่สุด ส่งผลให้ผู้ป่วยมีภาวะพิการทุพพลภาพ ทุกข์ทรมาน เสียโอกาสในการประกอบอาชีพ และโอกาสดีต่างๆ ทางสังคม รวมถึงเสียค่าใช้จ่ายในการแสวงหาการรักษาจำนวนมาก และอาจตามมาด้วยการสูญเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร
ภาพประกอบที่ 1 แผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการทำแผลที่โรงพยาบาล
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้าพเจ้าและทีมงานตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงสนใจที่จะค้นคว้าศึกษานวัตกรรมภูมิปัญญาจากพืชสมุนไพรที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานเพื่อลดอาการชาเท้าและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อการเกิดแผลเรื้อรัง ที่อาจสูญเสียอวัยวะส่วนปลายตามมา
2. แผลเรื้อรัง : ความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยเบาหวาน
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เหตุแห่งการเกิดแผลเรื้อรังโดยเฉพาะที่เท้าของผู้ป่วยเบาหวาน เกิดเนื่องจากเลือดและหลอดเลือดผู้ป่วยเบาหวานมีความผิดปกติ เลือดของผู้ป่วยเบาหวานมีความหนืดเหนียว ข้นกว่าบุคคลปกติทั่วไป ทำให้การไหลเวียนไปสู่อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นไปได้น้อยกว่าปกติ อีกทั้งมีความผิดปกติของหลอดเลือด ที่มีการตีบแข็ง ยืดหยุ่นได้น้อย ช่องภายในหลอดเลือดมีช่องว่างที่แคบกว่าหลอดเลือดบุคคลทั่วไป ดังนั้นการนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะอวัยวะส่วนปลายจึงไปได้น้อย สังเกตได้จากลักษณะฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวานมักมีสีซีดเหลือง หนา และหนังแข็ง รวมถึงมีความรู้สึกในการรับรู้น้อย และน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งมักสัมพันธ์กับระยะเวลาในการเจ็บป่วย และหากผิวหนังบริเวณดังกล่าวสัมผัสกับของมีคม กีด ขูดข่วน ทิ่มแทง ยิ่งส่งผลให้เกิดแผล เรื้อรังตามมา จากการสังเกตพบว่า หากยิ่งเป็นเบาหวานนานมากเท่าไร ผิวบริเวณอวัยวะส่วนปลาย อาจมีการปริแตกออกมาเอง โดยไม่ได้ไปสัมผัสสิ่งใด และลุกลามเป็นแผลขนาดใหญ่ได้โดยง่าย เนื่องจากเป็นบริเวณที่เลือดมาเลี้ยงน้อยจนเซลบริเวณนั้นเสื่อมตายไป จนตามมาด้วยการเป็นแผลเรื้อรัง รักษาหายได้ยาก
ผู้ป่วยเบาหวานหญิงรายหนึ่ง อายุ 64 ปี เป็นเบาหวานมานาน 14 ปี และเมื่อ 4 ปี ที่ผ่านมามีแผลเริ่มที่นิ้วก้อยของเท้าขวา ต่อมาลามไปที่นิ้วนาง และนิ้วกลาง รับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด นานกว่า 4 ปี แผลไม่หาย แผลมีเนื้อตายสีเหลืองซีดโดยรอบ แพทย์ทำการผ่าตัดตบแต่งบาดแผลถึง 3 ครั้ง จนเท้าเป็นรูปตัดขวางพาดกลางฝ่าเท้า และแผลยิ่งลุกลามลึกลงเรื่อยๆ จนถึงกระดูก มีอาการปวด ทุกข์ทรมาน แสนสาหัส
ผู้ป่วยเล่าว่า “ยายรู้สึกเหมือนคนตกนรกทั้งเป็น มันปวด มันเจ็บ มันทรมาน ไม่รู้จะไปรักษาที่ไหนให้แผลหาย จนปัญญา ยายเหมือนตกนรกทั้งเป็น”
เช่นเดียวกัน ผู้ป่วยเบาหวานชายอีกรายหนึ่ง อายุ 42 ปี เป็นเบาหวานมา 22 ปี มีอาการชาที่เท้า มากว่า 5 ปี ต่อมาเมื่อสามปีก่อน มีแผลผุพองบนหลังเท้าขวา และลุกลามขยายกว้างและลึก ขนาด ประมาณเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 เซนติเมตร ลึก 1.5 เซนติเมตร แพทย์ทำการผ่าตัดตบแต่งแผลถึงสามครั้ง ก็ไม่สามารถทำให้แผลหายได้ การเป็นแผลเรื้อรังที่ยาวนานทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถไปทำงานได้ตามปกติ จึงต้องลาออกจากงานมากว่าสามปี กลายเป็นคนตกงาน และทุกข์ทรมานกับแผลมาโดยตลอด
ผู้ป่วยเล่าว่า “ผมไม่คิดเลยว่า โรคเบาหวานมันจะทำลายชีวิตผมได้ขนาดนี้ ตอนนี้ผมหมดสิ้นทุกอย่าง ทั้งงาน ทั้งแฟน ผมไม่เหลือ”
จะเห็นได้ว่าปัญหาของแผลเรื้อรัง นอกจากทุกข์ทรมานทางร่างกายแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพทางจิต ที่ตามมาด้วยความเครียด ซึมเศร้า และรู้สึกตนเองว่าไร้ค่า
3. พรหมวิหาร : ความเมตตา กรุณาที่มีต่อผู้ป่วยเบาหวานแผลเรื้อรัง
หลักธรรมทางพุทธศาสนามีอยู่จำนวนมาก แต่หลักธรรมที่เหมาะกับการนำมาใช้ในการดูแลแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวานนั้นคือ พรหมวิหาร ที่เป็นธรรมประจำใจอันประเสริฐ ธรรมประจำใจที่ยิ่งใหญ่ ที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต), 2546 : 153) เป็นการนำความเมตตา ซึ่งเป็นความปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข และความกรุณา ซึ่งเป็นความปรารถนาดีคิดช่วยให้เขาพ้นทุกข์ ปลดเปลื้องบำบัดทุกข์ บำบัดความเดือดร้อน (พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต), 2546 : 125) เพื่อปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มาเป็นหลักยึดในการปฏิบัติงานในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานดังกล่าว
ด้วยปรากฏการณ์แผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกขณะ ที่ผู้เขียนบทความและทีมงานได้ประสบพบเห็นผู้ป่วยดังกล่าวในชุมชนและในสถานบริการสุขภาพ รวมถึงขณะที่ผู้เขียนพานักศึกษาพยาบาลออกฝึกปฏิบัติงาน ภาพที่เห็นและสัมผัสทุกวันคือ ภาพผู้ป่วยเบาหวานมาบริการทำแผลในสถานบริการ รวมถึงภาพแผลเรื้อรังที่อวัยวะส่วนปลายของผู้ป่วยเบาหวาน ที่ดวงตาของผู้ป่วยแสดงถึงความสิ้นหวัง ความหดหู่รันทดต่อโชคชะตาของชีวิต ใบหน้าที่เศร้าสร้อย ไร้แรงกำลังใจ ภาพเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนรู้สึกสะเทือนใจยิ่งนัก สิ่งแรกที่สัมผัสคือความรู้สึกสงสารจับใจ
วัฏจักรชีวิตตามคำสอนของพระพุทธเจ้าคือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย แต่สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะมันคือ เกิด แก่ เจ็บ พิการ และตาย โดยตายอย่างทุกข์ทรมาน ตายอย่างไม่มีศักดิ์ศรี โดยเฉพาะความทุกข์ทรมานจากแผลเรื้อรังที่รักษาหายยาก ที่มักลุกลามขยายเป็นวงกว้างออกไปได้ทุกขณะ จากหนึ่งนิ้ว เป็นสองนิ้ว เป็นสามนิ้ว จนเป็นทั้งเท้า จนในที่สุดทั้งขา ปัจจุบันการตัดอวัยวะที่เป็นแผลเรื้อรังถือเป็นเรื่องปกติของศัลยกรรมแพทย์ในโรงพยาบาล ดังนั้นปรากฏการณ์ผู้ป่วยเบาหวานถูกตัดอวัยวะทุกวันจึงสร้างความกลัว ความหวาดผวาให้บังเกิดแก่ผู้ป่วยเบาหวานยิ่งนัก ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเรื้อรังที่นิ้วเท้ารายหนึ่ง สอบถามผู้เขียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยสีหน้าที่ซีดเหมือดเต็มไปด้วยความวิตกกังวลอย่างสุดจะพรรณนาว่า “ผมไม่ตัดนิ้วได้ไหม ผมปฏิเสธหมอไม่ให้ตัดนิ้วผมได้ไหม ผมไม่อยากตัด และแล้วถ้าผมไม่ยอมตัดนิ้ว แผลจะลามไปที่ขา ให้ถูกตัดทั้งขาเลยไม๊” ผู้ป่วยพูดวกวน ซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าเวทนายิ่งนัก สิ่งที่ผู้เขียนประสบพบเห็น ทำให้ผู้เขียนสงสารพวกเขาจับใจ พร้อมตั้งปณิธานไว้ในใจว่า ผู้เขียนจะต้องเอาวิชาความรู้ที่เล่าเรียนมาจนถึงปริญญาเอก มุ่งมั่นช่วยเหลือผู้ป่วยเบาหวาน นำความรู้มาสร้างประโยชน์ให้พวกเขาเหล่านี้ ให้ได้กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง และจะปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ ความเดือดร้อน ที่เกิดจากแผลเรื้อรังออกจากผู้ป่วยเบาหวานให้พ้นจากความทุกข์ให้ได้ ความเมตตา กรุณาของผู้เขียนที่มีต่อผู้ป่วยเบาหวานนี้ จึงก่อเกิดความเพียร ความมานะ และความอุตสาหะ ที่พยายามคิดค้นศึกษานวัตกรรมภูมิปัญญาสมุนไพรไทยในการแก้ปัญหาเพื่อหยุดแผลเรื้อรังเหล่านี้ให้ได้
4. นวัตกรรมภูมิปัญญาสมุนไพรไทยในการแก้ปัญหาเพื่อหยุดแผลเรื้อรัง
4.1 แผงไข่มะกรูด : ลดอาการชาเท้าและป้องกันการเกิดแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน
ผู้เขียนพยายามคิดทบทวนถึงที่มาและสาเหตุแห่งการเกิดแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวาน
ซึ่งการจะป้องกันมิให้เกิดแผลเรื้อรังได้นั้น สิ่งแรกที่จะป้องกันที่มิให้เกิดแผลได้ก็ต้องลดอาการชาที่ฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวานให้ได้ก่อนสิ่งแรก หากเท้าไม่ชา และรับรู้ได้ตามปกติ โอกาสของการเกิดแผลก็ย่อมเป็นไปได้ยาก ผู้เขียนและทีมงานจึงคิดค้นผลิตนวัตกรรมภูมิปัญญาพืชสมุนไพรขึ้นเป็นลำดับ โดยเน้นการผลิตจากวัตถุดิบในท้องถิ่น ที่หาง่าย ราคาถูกหรืออาจไม่ต้องหาซื้อ นวัตกรรมแรกจึงเลือกมะกรูด ซึ่งเป็นไม้ในวงศ์เดียวกับส้มและมะนาว มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Citrus hystrix DC. ผลมะกรูดมีผิวเปลือกขรุขระมีปุ่มนูน มีต่อมน้ำมันที่ให้กลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหย (essential oil) และมีจุกที่หัวของผลมะกรูด (คม สันหุตะแพทย์, 2553)
โดยนำลูกมะกรูดสดขนาดกลาง ไม่ใหญ่เกินไปหรือเล็กเกินไป เพราะหากใหญ่ใส่ช่องไม่ได้ เล็กก็จะตกเข้าไปในช่องไข่ มาวางลงในแต่ละช่องของแผงไข่โดยให้นำเอาหัวขั้วตั้งขึ้น แล้วให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาฝ่าเท้า นั่งบนเก้าอี้แล้ววางเท้าทั้งสองข้างเหยียบลงบนลูกมะกรูดในแผงไข่ เหยียบซ้ายขวากด ลงเบาๆ สลับกันไปมา ดังภาพที่ 2
ภาพประกอบที่ 2 ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอาการชาฝ่าเท้าเหยียบแผงไข่มะกรูด
ที่ผ่านมา ผู้เขียนทำการศึกษาวิจัยเชิงกึ่งทดลองเรื่อง “ผลของแผงไข่มะกรูดลดอาการชาปลายประสาทเท้าผู้ป่วยเบาหวาน” ด้วยให้กลุ่มทดลองเหยียบแผงไข่มะกรูด วันละ 2 ครั้งๆ ละ 10 นาที เช้า และเย็น ผลการทดลองพบว่า การเหยียบแผงไข่มะกรูด ช่วยลดอาการชาฝ่าเท้าของผู้ป่วยเบาหวาน ได้ถึงร้อยละ 90 เหลือเพียงร้อยละ 10 ไม่สามารถช่วยให้หายชาได้ ในรายที่หนังเท้ามีความหนา และซีดเหลืองมาก ๆ เนื่องจากมีอาการปลายประสาทเสื่อมที่รุนแรง จากการสืบค้นพบว่า ภายในมีต่อมน้ำมันหอมระเหย ร้อยละ 4 มีองค์ประกอบหลักเป็น เบตาไพนีน (B-pinene) ประมาณร้อยละ 30 ลิโมนีน (limonene) ประมาณร้อยละ 29 นอกจากนี้ยังพบ linalool, borneol, camphor, sabinene, germacrene D, aviprin, umbelliferone ใช้เป็นน้ำมันแต่งกลิ่นเครื่องหอม นอกจากนี้พบว่า เบต้า-ไพนีน ไลโมนีน และซาบินีน เป็นสารหลักซึ่งเมื่อถูกความร้อนจะระเหยออกมากลายเป็นกลิ่น (วันดี กฤษณพันธ์, 2539) ที่ช่วยด้านอารมณ์ให้สุขสบายใจ และน้ำมันหอมระเหยยังทำให้เกิดความร้อนสามารถละลายออกมาเป็นตัวยาซึมเข้าใต้ผิวหนังตามร่างกายซึมเข้าสู่เท้า ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทและการไหลเวียนที่บริเวณปลายเท้าได้มากขึ้น ลดอาการชาฝ่าเท้าที่เกิดจากอาการเสื่อมของปลายประสาทได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้หัวขั้วของผลมะกรูดที่วางตั้งขึ้นอยู่ในแผงไข่ ซึ่งหัวขั้วผลมะกรูดมีลักษณะนูนแหลม ช่วยกระตุ้นระบบประสาทของฝ่าเท้าให้ฟื้นคืนมา เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ประสาทของฝ่าเท้า ถือเป็นการประยุกต์ศาสตร์ของการกดจุดฝ่าเท้าแบบการแพทย์แผนจีนที่มีมาแต่โบราณในการนำมาใช้ สอดรับกับทฤษฎีของการนวดฝ่าเท้าการแพทย์จีนที่อธิบายไว้ว่า ฝ่าเท้าของมนุษย์เกี่ยวสัมพันธ์กับอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกาย ดังนั้นหากทำการนวดฝ่าเท้าพลังแรงนวดจะกระตุ้นถูกเซลล์ประสาทที่หล่อเลี้ยงอยู่รอบข้างและอวัยวะภายในที่เกี่ยวสัมพันธ์ โดยผ่านศูนย์กลางประสาทเชื่อมโยง ทำให้เซลล์ประสาทตื่นตัวทำงานอย่างกระฉับกระเฉงและผลักดันให้ระบบเลือดไหลเวียนดีขึ้นเลือดไหลเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ อาการชาหรือเจ็บปวดที่มีอยู่ก็จะทยอยทุเลาหายไป(ทักษิณาร์ ไกรราช และคณะ, 2553)
สำหรับกรณีฤดูร้อนจะหามะกรูดยาก หรือเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีแรงเหยียบผลมะกรูด อาจต้องปรับใช้วิธีอื่นด้วยการหั่นลูกมะกรูดสด เป็นชิ้นๆ หรือฝาด ๆ ใส่ลงในกะละมังที่มีน้ำอุ่นไว้อยู่ (ควรทดสอบความร้อนก่อนลงแช่เท้า เพื่อไม่ให้น้ำร้อนเกินไป) ใช้มือบีบมะกรูดบางชิ้นลงในน้ำที่อยู่ในกะละมัง หลังจากน้ำเอาเท้าทั้งสองข้างแช่ลงน้ำ นาน 10 นาที ขณะแช่อาจใช้มือหยิบชิ้นมะกรูดในน้ำมาถูลูบไล้ไปมาตามเท้า และขา วิธีนี้ก็จะช่วยให้เส้นเลือดส่วนปลายขยาย เลือดมาเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายได้มาขึ้น แก้ไขอาการมึนชาฝ่าเท้า และป้องกันการเกิดแผลเรื้อรัง และป้องกันการสูญเสียอวัยวะส่วนปลายของผู้ป่วยเบาหวาน
ภาพประกอบที่ 3 ผลมะกรูดหั่น ภาพประกอบที่ 4 การแช่เท้าด้วยน้ำและผลมะกรูด
หมายเหตุ ควรเปลี่ยนลูกมะกรูดใหม่ ภายใน 4-5 วัน เมื่อมะกรูดเริ่มสีน้ำตาล คล้ำดำ หรือเริ่มปริแตก
ผลงานวิจัยดังกล่าวได้รับการตอบรับและได้ลงเผยแพร่ในวารสารวิชาการการพยาบาลและการศึกษา ฉบับเดือนสิงหาคม 2554 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
4.2 ผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสรักษาแผลเรื้อรัง
ในกรณีที่ผู้ป่วยเบาหวานเกิดแผลเรื้อรังแล้ว ซึ่งแผลเรื้อรังรักษาหายยาก ผู้เขียนและทีมงานได้ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง ผลของผงเปลือกมังคุดรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน โดยการนำวัตถุดิบคือ เปลือกมังคุด ซึ่งเป็นราชินีผลไม้ของไทย ที่มีที่มาจากภูมิปัญญาชาวใต้ เนื่องจากมังคุดมีเฉพาะบางฤดูกาล ไม่สามารถนำมาใช้ได้ตลอดทั้งปี ผู้เขียนจึงนำเปลือกมังคุดสุกมาทำเป็นผงเปลือกมังคุด โดยมีขั้นตอนดังนี้ เมื่อรับประทานเนื้อมังคุดแล้ว นำเปลือกมังคุดดังกล่าวมาหั่นเป็นเส้นบางๆ แล้วนำไปตากแดด 2 ครั้ง และนำมาอบด้วยความร้อนอีก 1ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อราเมื่อเก็บไว้นานๆ แล้วนำมาบดหรือตำเป็นผงละเอียด นำใสขวดสะอาดไว้ เมื่อสมาชิกในครอบครัวเกิดแผลตามร่างกาย ให้นำปูนเคี้ยวหมากมา ½ ช้อนโต๊ะ ใส่ลงในถ้วยสะอาด เติมน้ำต้มสุกลงไปประมาณ 300 ซีซี รอให้เนื้อปูนตกตะกอน แล้วตักน้ำปูนใสประมาณ 1ช้อนโต๊ะ ผสมเนื้อผงเปลือกมังคุดประมาณ 1ช้อนชา หรือเพิ่มมากขึ้นตามตามขนาดของแผล คนให้เข้ากัน ให้ได้ส่วนผสมที่มีลักษณะไม่เหลวเป็นน้ำ แต่เหนียวข้นเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ตัวยาไหลเยิ้มออกนอกแผล
วิธีการทำแผลด้วยผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใส
การนำผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสทำแผลเรื้อรัง ทำแผลเหมือนแผลปกติทั่วไป คือการทำความสะอาดรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ และเช็ดทำความสะอาดภายในแผลด้วย Normal Saline หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า น้ำเกลือล้างแผล ในขั้นเริ่มต้น แต่ขั้นตอนสุดท้ายของการทำแผล ผู้เขียนนำผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสแปะลงบนผ้าก็อสที่คลี่ออกหนึ่งชั้น วางปิดบนปากแผลเรื้อรัง แล้วปิดด้วยก็อสอื่นๆ อีก ตามมา แล้วปิดด้วยพลาสเตอร์ ทำแผลทุกวันจนแผลปิดสนิท
ภาพประกอบที่ 5 แผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน ภาพประกอบที่ 6 การทำแผลด้วยผงเปลือกมังคุด
ผสมน้ำปูนใส
ผลการศึกษาพบว่า ผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสสามารถรักษาแผลเรื้อรังได้ อันเป็นผลมาจากเปลือกมังคุดมีสารแทนนิน และสารแมงโกสติน (Mangostin) มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนองมากถึง 7-14 เปอร์เซ็นต์ (ดุษฎี มงคล และอุไรวรรณ ปรีถวิล, 2551) มีตัวยาฝาดสมาน และมีสารที่มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อโรคได้ดี จึงมีผลทำให้สามารถใช้รักษาทั้งแผลเรื้อรัง ช่วยให้แผลเรื้อรังหายเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าเปลือกมังคุดสามารถทำลายเชื้อสแตปฟิย์โลคอคคัส ออเรียส, บาซิลลัส สับทิลิส, ซาโมเนลล่า ทัยโฟสา (Salmonella typhosa) ชิคเจลลา ซอนนีไอ (shigella sonnei) เอส เซอริเซีย โคไล อีกทั้งสารประกอบประเภทแซนโทนส์ (xanthones) ซึ่งมีสารธรรมชาติ 5 สาร สารหลักคือแมงโกติน (mangostin) และอนุพันธ์ของสารนี้แสดงฤทธิ์ในการต่อต้านสแตปฟิย์โลคอคคัส ออเรียส ได้ดี ทั้งสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาเพนนิซิลินและสายพันธ์ที่ไม่ดื้อต่อยาเพนนิซิลิน โดยสารแมงโกตินมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียได้ดีที่สุดและให้ค่า MIC,(Minimal Inhibitory Concentration) ใกล้เคียงกับเมทธิซิลิน ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคเกิดจากแบคทีเรียสแตปฟิย์โลคอคคัส ออเรียส ที่ดื้อยาเพนนิซิลินอื่นๆ ในด้านการทดสอบฤทธิ์การต้านเชื้อรา ซึ่งแมงโกตินมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราทริโคฟัยตอน เมนทาโกรไฟท์และไมโครสปอรัม จิบเซียมส์ (Microsporum gypseums) ได้
สำหรับน้ำปูนใส มีสูตรทางเคมีคือ Ca(OH)2 ทำมาจากปูนแดงที่กินกับหมาก มาละลายในน้ำแล้วตั้งทิ้งให้ตกตะกอน กรองเอาแต่น้ำใสมาใช้ น้ำปูนใสมีสรรพคุณช่วยให้เนื้อเยื่อธัญพืชหรือพืช แตกกระจายตัวได้ดี ทำให้ทำปฏิกิริยาในการรักษาได้ผลเร็วขึ้น จึงเหมาะกับการนำมาเป็นตัวเชื่อมสมานกับตัวยาสมุนไพร ในที่นี้จึงได้นำมาใช้ผสมกับผงเปลือกมังคุดเพื่อให้ตัวยาแตกตัวได้ดีขึ้น สามารถซึมเข้าเนื้อเยื่อและแผลได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้ประสิทธิภาพสูงขึ้นทางการรักษา (ทักษิณาร์ ไกรราช และคณะ, 2558)
จากการศึกษาวิจัยผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใส สรุปได้ว่าสามารถจัดการกับแผลที่มีการติดเชื้อ อักเสบ มีหนอง และมีกลิ่น ได้เป็นอย่างดี และกรณีแผลที่มีความตื้นของผิว สามารถดึงผิวหนังรอบแผลมาปิดปากแผลได้โดยเร็ว แต่ก็มีข้อจำกัดในการรักษาแผลที่มีความลึก เป็นหลุม เนื้อก้นหรือส่วนกลางของแผลเป็นโพรง กลวง ผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสไม่สามารถดึงผิวหนังด้านบนโดยรอบปากแผลมาปิดให้สนิทกันได้ เนื่องจากขาดเนื้อเยื่อด้านบนเป็นฐานในการดึงปิดปากแผล ทำให้แผลปิดสนิทได้ไม่ง่ายนัก
4.3 ยาน้ำมันสีเหลืองทารักษาแผลเรื้อรัง
จากการศึกษาวิจัยเรื่อง ผลของผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน พบว่า มีสรรพคุณรักษาแผลเรื้อรังได้ แต่ไม่ใช่ทุกลักษณะของแผลทั้งหมด เนื่องจากกรณีที่เป็นแผลลึก เป็นหลุมใหญ่ ผลของผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสยังไม่สามารถรักษาแผลเรื้อรังให้หายปิดสนิทได้ ข้าพเจ้าจึงศึกษาค้นคว้าตัวยาต่อไป จนค้นคว้าศึกษาน้ำมันทาแผลจากพืชสมุนไพรหลายชนิด อันมีส่วนผสมประกอบด้วย ขมิ้น ไพล มะกรูด และอื่นๆ นำมาทำการทดลองใช้กับแผลเรื้อรังพบว่าสามารถนำมารักษาแผลที่มีลักษณะลึก เป็นหลุม หรือที่มีการอักเสบ ช้ำ บวมแดง ให้มีเนื้อเยื่อใหม่ขึ้นมาทดแทน แทนข้อจำกัดของผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสรักษาแผลเรื้อรัง
จากการศึกษาพบว่า ยาน้ำมันสีเหลืองนี้สามารถแก้การอักเสบลึกของเนื้อเยื่อได้ โดยเฉพาะบริเวณภายในหลุมแผลและบริเวณผิวหนังโดยรอบที่มีอาการบวมแดงอักเสบ หรืออาจม่วงช้ำดำ ที่เกิดจากเลือดมาเลี้ยงบริเวณดังกล่าวได้น้อย เนื่องจากยาน้ำมันทาแผลนี้ได้ช่วยนำเลือดและออกซิเจนมาเลี้ยงแผล ช่วยสร้างเนื้อเยื่อใหม่ให้แก่แผล เปลี่ยนเซลล์ที่ชำรุดให้เป็นเซลใหม่ที่แข็งแรงแดงสดสะอาดใหม่ เกิดเนื้อดีขึ้นมาเติมเต็มภายในหลุมแผลได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานให้หายขาดปิดสนิทได้เร็วขึ้น ผลจากการทดลองดังกล่าวผู้เขียนจึงนำตัวยาทั้งผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสและน้ำมันทาแผล มาใช้ร่วมกันในการรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน ตามความเหมาะสมตามแต่ละลักษณะของแผล
แต่จากการศึกษาติดตามผู้ป่วยเบาหวานที่หายจากแผลเรื้อรังอันเป็นผลจากยาผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสหรือจากน้ำมันสีเหลืองทาแผล พบว่าแผลสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก หากไม่มีการรักษาหรือแก้ไขที่เลือดหรือหลอดเลือดที่เป็นตัวต้นเหตุของการเกิดแผลอย่างแท้จริง ผู้ป่วยเบาหวานสามารถกลับมาเป็นแผลเรื้อรังได้ซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ ผู้เขียนจึงใช้ความเพียร พยายาม มานะ อุตสาหะอีกครั้ง ที่จะพยายามคิดค้น ค้นคว้า เพื่อผลิตยาสมุนไพรประเภทรับประทานเพื่อวัตถุประสงค์แก้ปัญหาความผิดปกติความหนืดของเลือด และการตีบแข็งยืดหยุ่นได้น้อยของหลอดเลือดผู้ป่วยเบาหวาน
4.4 เครื่องดื่มสมุนไพร : ปรับสมดุลร่างกาย ล้างพิษเลือด และหลอดเลือด
การเกิดกลับมาซ้ำของแผล ทำให้ผู้เขียนต้องกลับมาใช้ความเพียรพยายามอีกครั้งในการพยายามแก้ปัญหาแผลเรื้อรังของผู้ป่วยเบาหวานให้สามารถยุติความพิการ ความทุกข์ทรมานจากการเกิดแผลเรื้อรังได้ ด้วยเหตุผลเลือดผู้ป่วยเบาหวานมีความหนืด เหนียวข้น และมีภาวะเป็นกรดของเลือดมากกว่าปกติ และหลอดเลือดตีบแข็งจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มีการนำเอาสารอาหารต่างๆ และออกซิเจนไปสู่อวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกายได้น้อยกว่าปกติ เกิดการสะสมสารพิษในกระแสเลือด รวมทั้งสิ่งปฏิกูลส่วนเกินที่ตกค้างในหลอดเลือด
ผู้เขียนทำการศึกษาค้นคว้าพืชสมุนไพรโดยใช้ความรู้แบบผสมผสาน ด้วยการศึกษาจากตำราโบราณว่าพืชชนิดใดที่มีรสขม รสฝาด เพื่อให้ไปช่วยปรับแก้ภาวะเลือดหนืดเหนียว และมีกรดในกระแสเลือดให้กลับมาเป็นปกติ รวมถึงศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ประกอบกัน โดยนอกจากเป็นพืชที่โบราณที่เน้นให้มีรสขม ฝาดแล้ว ยังต้องเป็นพืชสมุนไพรที่มีสารคอนลาเจนสูง เพื่อช่วยแก้ไขหลอดเลือดที่ตีบแข็ง ยืดหยุ่นน้อย ให้กลับมายืดหยุ่นดีกลับทำงานได้ตามปกติ สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ โดยเฉพาะอวัยวะส่วนปลายได้ดี จนพบพืชสมุนไพรหลายชนิดที่มีสรรพคุณดังกล่าว จึงนำมาทำการทดลองรับประทาน ปรุงด้วยสัดส่วนที่เหมาะสมตามสรรพคุณจนสามารถช่วยให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอวัยวะส่วนปลายและแผลเรื้อรัง ช่วยให้แผลเรื้อรังหายถาวร ไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก
จากส่วนประกอบและสรรคุณต่าง ๆ ของพืชสมุนไพรทั้งหลายดังกล่าว จึงมีสรรพคุณที่เหมาะแก่การนำมาเป็นสมุนไพรไทยรับประทานเพื่อปรับความหนืดของเลือด ลดภาวะกรด ช่วยการยืดหยุ่นของเลือดผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเรื้อรังได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เครื่องดื่มสมุนไพรดังกล่าวยังมีพืชสมุนไพรบางชนิดเป็นส่วนประกอบ ที่ช่วยเสริมสร้างสรรพคุณในทางการรักษาแผลเรื้อรังให้ดี
ยิ่ง ๆ ขึ้น
5. การดูแลแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานด้วยนวัตกรรมภูมิปัญญาทางพุทธ
จากนวัตกรรมภูมิปัญญาทั้งหลายที่กล่าวมาต่างนำใช้หลักพระพุทธศาสนาในด้านความเพียร มานะ อุตสาหะ มาใช้เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเรื้อรังพ้นจากทุกข์ เริ่มตั้งแต่แผงไข่มะกรูดการลดอาการชาฝ่าเท้าผู้ป่วยเบาหวานเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในการสูญสียอวัยวะส่วนปลาย และการรักษาแผลด้วยผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใส และตามมาด้วยการรักษาแผลด้วยน้ำมันสมุนไพรทาแผล จนในที่สุดคือการดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรล้างพิษเลือดและหลอดเลือด เพื่อช่วยปรับสมดุลของเลือด ลดการหนืดเหนียวข้นของเลือด พร้อมเพิ่มการยืดหยุ่นของหลอดเลือด ช่วยให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติได้ตามเดิม ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า การรับประทานเครื่องดื่มสมุนไพรร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน ช่วยให้แผลเรื้อรังหายขาดและไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก เหตุผลเนื่องจากเครื่องดื่มสมุนไพรที่ผลิตจากผักหวาน หวาย เทพทาโร และอื่นๆ มีสรรพคุณในการล้างพิษเลือด ดับพิษร้อนของเลือดที่มีภาวะเป็นกรด จึงลดความร้อนภายในร่างกาย และความหนืดของเลือด ช่วยให้หลอดเลือดที่ตีบแข็งกลับมายืดหยุ่นได้ดีดังเดิม จึงสามารถนำเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ กลับคืนมา โดยเฉพาะอวัยวะส่วนปลายหรือที่แผล นั่นเอง ดังภาพประกอบ
ภาพประกอบที่ 7 และ 8
แผลเรื้อรังที่นิ้วเท้าผู้ป่วยเบาหวานก่อนรับการรักษาแผลเรื้อรัง
ด้วยยาทาแผลสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพร
ภาพประกอบที่ 9 และ 10
นิ้วเท้าผู้ป่วยเบาหวานภายหลังรับการรักษาแผลเรื้อรัง
ด้วยยาทาแผลสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพร
จากภาพ เป็นผู้ป่วยหญิงโรคเบาหวานที่มีแผลเรื้อรังรายหนึ่ง อาศัยอยู่อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม เป็นโรคเบาหวาน มากว่า 15 ปี ซึ่งปัจจุบันตามมาด้วยความดันโลหิตสูง ไตเริ่มเสื่อม ตาพร่ามัว ฝ่าเท้าชา มีแผลเบาหวานที่นิ้วเท้าด้านซ้ายมากว่า 2 ปี หนึ่งเดือนที่ผ่านมา รับการรักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แพทย์ทำการรักษาด้วยการตัดนิ้วหัวแม่เท้าไปหนึ่งข้อ เนื่องจากแผลเป็นเนื้อตาย และตามมาด้วยนิ้วอื่นๆ มีอาการอักเสบ ม่วงคล้ำ บริเวณหว่างนิ้วชี้และกลางเป็นแผลกินลึกพร้อมเนื้อตายสีขาวโดยรอบ อีกทั้งบางปลายนิ้วมีเนื้อตายสีดำที่โคนนิ้ว กำลังลุกลามไปนิ้วอื่นๆ และเท้า แพทย์วางแผนการรักษาพร้อมแจ้งให้ผู้ป่วยทราบว่าจะตัดนิ้วอื่นๆต่อไปอีก ผู้ป่วยและญาติจึงมาขอรับการรักษาแผลเบาหวานกับผู้เขียนและทีมงาน ทำการรักษาด้วยการใช้ยาน้ำมันทาแผล ยาผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใส ตามลักษณะของแต่ละแผล พร้อมให้ดื่มเครื่องดื่มสมุนไพรดังกล่าว ประมาณหนึ่งเดือนเศษ แผลเรื้อรังดังกล่าวหายเป็นปกติ พร้อมสุขภาพที่แข็งแรงตามมา เนื่องจากยาสมุนไพรที่ทานมีสรรพคุณลดความหนืด เหนียวข้นของเลือด และช่วยให้หลอดเลือดยืดหยุ่น ลดการตีบแข็ง
การักษาดังกล่าวเป็นศาสตร์การล้างพิษเลือด และล้างหลอดเลือดวิธีหนึ่ง ที่ช่วยทำให้เลือดเสียกลับไปเป็นเลือดดี แล้วเลือดดีกลับไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ได้ตามปกติ โดยเฉพาะเลือดไปเลี้ยงแผล และอวัยวะส่วนปลาย ได้แก่ ตา ไต ตีน ที่สำคัญคือที่ตับอ่อน และไต ฟื้นฟูการทำงานให้กลับมาทำงานตามปกติ หญิงรายนี้เล่าว่า “เมื่อแผลหาย ก็เหมือนขึ้นจากนรก หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมาน ความพิการ” และพบว่า สีผิวเท้าของผู้ป่วยกลับมาแดงสดเป็นปกติ ไม่ซีดคล้ำดำ เหมือนเก่าก่อน ผู้ป่วยมีพลังเรี่ยวแรงกลับคืนมาเหมือนสมัยก่อนป่วยด้วยเบาหวาน สามารถไปหาเห็ด หาปู ปลาได้ตามปกติ
อาจกล่าวได้ว่านวัตกรรมภูมิปัญญาของพืชสมุนไพรไทยสามารถช่วยรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวานได้ อันมีที่มามาจากความเมตตา กรุณา และความเพียร มานะ อุตสาหะ ที่ผู้เขียนและทีมงาน พยายามค้นคว้าศึกษาที่หลากหลายเพื่อให้ได้มาซึ่งการช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเรื้อรังพ้นทุกข์ พ้นจากความพิการ
6. บทสรุป
ความเมตตาที่มีต่อผู้ป่วยแผลเรื้อรัง ซึ่งปรารถนาให้ผู้ป่วยแผลเรื้อรังได้รับสุข และให้ความกรุณา ซึ่งปรารถนาให้ผู้ป่วยแผลเรื้อรังพ้นทุกข์จากความทรมาน นำมาซึ่งการผลิตคิดค้นนวัตกรรมภูมิปัญญาหลายอย่างเพื่อการดูแลผู้ป่วยดังกล่าว โดยศึกษาค้นคว้าองค์ความรู้พืชสมุนไพรแบบผสมผสานทั้งทางการแพทย์แผนไทย และทางเภสัชวิทยา ด้วยความเพียร มานะ อุตสาหะ พยายามเป็นเวลากว่า 5 ปี จนนำมาซึ่งความสำเร็จในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลเรื้อรัง ความสำเร็จที่ได้รับคือความสุข ความภาคภูมิใจของตนและทีมงาน ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีความสุข และพ้นจากความทุกข์ทรมานจากแผลเรื้อรัง และหลุดพ้นจากความพิการได้ในที่สุด สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างปกติเหมือนบุคคลทั่วไป
“โปรดอย่าประมาทกับโรคเบาหวานที่แฝงมากับความพิการที่น่าสะพรึงกลัว”
เอกสารอ้างอิง
กรมส่งเสริมการเกษตร. (ม.ป.ป.). ผักหวานป่า. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2558, จาก http://
203.172.205.25/ftp/intranet/Research_AntioxidativeThaiVegetable/
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. (ม.ป.ป.). เทพทาโร. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2558 จาก
http://www.dnp.go.th/pattani_botany/พันธุ์ไม้/ไม้เอนกประสงค์/เทพธาโร/
เทพธาโร.htm
คม สันหุตะแพทย์. (2553). ผลไม้ใช้ทำยา. กรุงเทพมหานคร : เกษตรกรรมธรรมชาติ.
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. (ม.ป.ป.). หวายดง.สืบค้นเมื่อ 1
มีนาคม 2558, จาก http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage
&pid=300
ณัฏฐากร เสมสันทัด และบัณฑิต โพธิ์น้อย. (2552). ผักหวานป่า. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2558, จาก
http://forprod.forest.go.th/forprod/ebook/ผักหวาน/ผักหวาน.pdf
ดุษฎี มงคล และอุไรวรรณ ปรีถวิล. (2551). รายงานการวิจัย ประสิทธิผลของการล้างแผลผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลเรื้อรังด้วยน้ำต้มสารสกัดสมุนไพรจากเปลือกมังคุด. โรงพยาบาล
คาม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์.
เดชา ศิริภัทร. (2542). ผักหวานบ้าน. หมอชาวบ้าน,242. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2558,
จาก http://www.doctor.or.th/article/detail/2168
ทักษิณาร์ ไกรราช และคณะ. (2553). รายงานการวิจัยผลของแผงไข่มะกรูดลดอาการชาปลายประสาทเท้าผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม.
ทักษิณาร์ ไกรราช และคณะ. (2558). รายงานการวิจัยผลของผงเปลือกมังคุดผสมน้ำปูนใสรักษาแผลเรื้อรังผู้ป่วยเบาหวาน. วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม.
พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต). (2546). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ (พิมพ์ครั้งที่ 11). กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม (พิมพ์ครั้งที่ 17). กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และนิธิยา รัตนาปนนท์. (ม.ป.ป.). ผักหวาน. สืบค้นเมื่อ 1 มีนาคม 2558,
จากhttp://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/2646/ผักหวาน
วันดี กฤษณพันธ์. (2539). สมุนไพรสารพัดประโยชน์ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพมหานคร : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.
สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข. (2556). สรุปรายงานการเฝ้าระวังโรค ประจำปี 2555. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2558, จาก http://www.boe.moph.go.th/Annual/AESR2012/ main/AESR55_Part1/file11/5955_Diabetes.pdf