การพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาแกนนำสุขภาพ

บทความวิจัย

การพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว

ในการดูแลผู้ด้อยโอกาส และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ฯ  เขต  12                                   

ดร.ทักษิณาร์  ไกรราช  ปร..*  ชาลี  ศิริพิทักษ์ชัย  กศ.ม.*

อรุณี  อูปแก้ว    กศ.ม.*  กฤตย์  ไกรราช  วท.บ.**

*วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม

**มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

บทคัดย่อ       

               งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  ศึกษาการพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว (กสค.) ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  เขต 12  ให้ได้มาซึ่งต้นแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพกสค. ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ  มี  3  กลุ่ม  เลือกแบบเจาะจง  เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม  การสนทนากลุ่ม  การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

             การศึกษารูปแบบดังกล่าวทำให้ได้มาซึ่งต้นแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพกสค. ประกอบด้วย 4ขั้นตอน ได้แก่  ก่อนดำเนินการ  ขณะดำเนินการ ก่อนสิ้นสุดการดำเนินการมีการสรุปผลต่อผู้นำท้องถิ่น และหลังสิ้นสุดโครงการมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับจังหวัดและเขตเพื่อนำบทเรียนรู้ที่ได้ไปต่อยอดขยายผลต่อไป

 

คำสำคัญ  แกนนำสุขภาพประจำครอบครัว  ผู้ป่วยเรื้อรัง  ผู้ด้อยโอกาส  

 

Abstract

This qualitative study aimed to study the development pattern of reinforcement process for family’s public health leaders who take care of vulnerable groups and chronic patientsin the region 12th, and to produce prototype of reinforcement process for the family’s public health leaders. This study collected information participant observation, focus group, in-depth interview and organize forum for sharing experiences.

The study founded that four steps of prototype of reinforcement process for the family’s public health leaders to take care of the vulnerable groups and chronic patients are pre-implementation, implementation,in put the summary to local leaders before project complete, andorganize forum for sharing experiences in provincial and regional levels in order to extend the results of the study.       

Keywords: the family’s public health leaders, development project pattern of reinforcement process, vulnerable groups, chronic patient

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

          ปัจจุบัน ประชาชนมีความเจ็บป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ พิการ และผู้ด้อยโอกาสอื่นๆ จำนวนมากขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้เจ็บป่วย ครอบครัว และชุมชน  หากเกิดความรุนแรงขึ้นจะเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้วกระทบต่อส่วนอื่นๆ ของร่างกาย  กลายเป็นโรคเรื้อรังหรือพิการ อันจะส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ ภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศชาติในการจ่ายค่าดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ ในทางตรงกันข้ามหากผู้ป่วยที่มีความรุนแรงได้รับการดูแลที่ดี ทันท่วงที และฟื้นฟูให้กลับสู่สภาพเดิมหรือใกล้เคียงมากที่สุด ก็จะทำให้ผู้ป่วยอยู่ในชุมชน  สังคม ได้อย่างมีความสุข

             การแก้ไขปัญหาสุขภาพจำเป็นต้องอาศัยการมีความรู้ความสามารถ และทักษะในการดูแลตนเองของผู้เจ็บป่วยและบุคคลในครอบครัว  ซึ่งมิใช่เพียงหน้าที่ของทีมสุขภาพที่ดูแลผู้ป่วยเท่านั้น  ยังต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ป่วย  และสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยหรือแกนนำสุขภาพชุมชน ดูแลกันซึ่งกันและกันด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์

            เขตตรวจราชการที่ ๑๒ ได้เห็นความสำคัญของกลุ่มประชากรที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้น้อยและไม่ครอบคลุม จึงได้มอบหมายให้วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคามดำเนินการจัดโครงกาพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส (กสค.) ขึ้น  ทำหน้าที่เป็นครู ก ร่วมกับทีมวิทยากร ครู ข ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์  มหาสารคาม และร้อยเอ็ด   พร้อมศึกษาวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  เขต 12 เพื่อให้ได้มาซึ่งต้นแบบกระบวนการที่ดีของแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวเครือข่ายเขต 12  ต่อไป

วัตถุประสงค์การวิจัย

  1. เพื่อศึกษารูปแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  เขต 12 

  2. เพื่อได้มาซึ่งต้นแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  เขต 12 

    วิธีดำเนินการวิจัย

               การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ  ศึกษาวิจัย 3 พื้นที่ ได้แก่  จังหวัดมหาสารคาม  ร้อยเอ็ด  และกาฬสินธุ์  ผู้ให้ข้อมูลหลัก  ประกอบด้วย 3  กลุ่ม  ได้แก่  กลุ่มผู้บริหาร  กลุ่มผู้ปฏิบัติ  และกลุ่มผู้รับบริการ  ทำการสุ่มแบบเจาะจง  (Purposive  Sampling)   ดังนี้ 

               1. ผู้บริหารโครงการ  ได้แก่ทีมวิทยากรอาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม ที่รับผิดชอบแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว  (กสค.)  ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่เข้าร่วมโครงการจำนวน  5  กลุ่มได้แก่  กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  กลุ่มเด็กด้อยโอกาส โอกาส  ซึ่งเป็นเด็กที่มีปัญหาทางสมอง กลุ่มผู้พิการทางการเคลื่อนไหว   กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช  และกลุ่มผู้สูงอายุ  กลุ่มละ 3  คนรวม  15  คน  และทีมวิทยากร  3  จังหวัด  ๆ ละ  จำนวน  5  กลุ่ม ๆ ละ 3  คน รวม  45 คน

                2.ผู้ปฏิบัติ  ได้แก่  กสค. 3 จังหวัด ๆ ละ 30  คน  รวม 90 คน   

                3. ผู้รับบริการ  ได้แก่   ผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  3 จังหวัด ๆ ละ 30  คน  รวม 90 คน    และสมาชิกในครอบครัวหรือผู้ดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง  3 จังหวัด ๆ ละ 30 คน  รวม 90 คน 

เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสนทนากลุ่ม  การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

          เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

            เครื่องมือเชิงคุณภาพ  คือ ผู้วิจัยเป็นเครื่องมือที่สำคัญ  ผู้วิจัยรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิจากการค้นคว้าเอกสารที่เกี่ยวข้อง  และรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิจากแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว  โดยใช้เครื่องมือในการวิจัยเชิงคุณภาพรวม  4  ประเภท   ได้แก่  แบบสังเกตอย่างมีส่วนร่วมแบบสัมภาษณ์เชิงลึกแบบสนทนากลุ่ม  และแบบการจัดการความรู้  (KM)  ผู้วิจัยแบ่งขั้นตอนการวิจัย  4 ระยะ ดังนี้

             ขั้นตอนการวิจัย  ประกอบด้วย 4  ระยะ ดังนี้

ระยะที่  1  ศึกษาบริบทพื้นที่วิจัยและการเข้าถึงผู้ให้ข้อมูล  ผู้วิจัยขออนุญาตผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ  ทีมวิทยากร 3 จังหวัด  และแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว  3  จังหวัด  ทำการศึกษาวิจัย  และชี้แจงวัตถุประสงค์   กระบวนการขั้นตอนในการวิจัย  และประโยชน์ที่จะได้รับจากการศึกษาวิจัย  พร้อมสร้างสัมพันธภาพกับผู้ให้ข้อมูล

ระยะที่ 2 ศึกษาก่อนดำเนินการโครงการ  ผู้วิจัยศึกษาการดำเนินการของทีมวิทยากรอาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม  ในการเตรียมความพร้อมทางวิชาการแก่ทีมวิทยากร 3 จังหวัด  ด้วยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม  พร้อมจดบันทึก

ระยะที่ 3 ศึกษาขณะดำเนินการโครงการ  ด้วยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม สัมภาษณ์เชิงลึก พร้อมจดบันทึก

ระยะที่  4  ศึกษาหลังสิ้นสุดการดำเนินโครงการ  ด้วยการสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสนทนา

กลุ่ม  การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผลการวิจัย

            ประเด็นที่ 1  ข้อมูลทั่วไปของ กสค.

กสค. เขต 12  รวม  3  จังหวัด ได้แก่  จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดกาฬสินธุ์  มีจำนวนรวม  6,588คน  ส่วนใหญ่อาชีพเกษตรกร  รองลงมาไม่ประกอบอาชีพ  เนื่องจากต้องรับภาระดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  รายได้ส่วนใหญ่มาจากสมาชิกในครอบครัว

            ประเด็นที่ 2 รูปแบบกระบวนการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว(กสค.) ในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  เขต 12

เริ่มจากการสาธิตการดำเนินโครงการพัฒนาศักยภาพกสค.  โดยครู ก หรือทีมงานอาจารย์วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม  ด้วยหลักสูตรการพัฒนา รวม  3 วัน  เมื่อสิ้นสุดการสาธิตทีม ครู ข หรือทีมงานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแต่ละจังหวัด  ดำเนินการโครงการในพื้นที่ของตนโดยหลายแห่งปรับกิจกรรมให้เหมาะสมตามแต่ละบริบท  ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการ  จำนวน  3 วัน  แต่มีบางพื้นที่ดำเนินการ   2  วัน   จังหวัดมหาสารคาม  ได้แก่  อำเภอวาปีปทุม  อำเภอแกดำ  อำเภอบรบือ  อำเภอกันทรวิชัย  ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด  ได้แก่ อำเภออาจสามารถ  อำเภอโพธิ์ชัย  และจังหวัดกาฬสินธุ์  ได้แก่ อำเภอโพนทอง  ต่างให้เหตุผลว่า  กสค.  มีภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ด้อยโอกาสซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถดูแลตนเองได้  อีกทั้งการดำเนินการยู่ในช่วงฤดูทำนา จึงยากต่อการเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้   หลักสูตรการดำเนินงานดังกล่าว  กำหนดให้แต่ละพื้นที่จัดดำเนินการพื้นที่ละ  100 คน   แต่จากการศึกษาพบว่า  มีบางพื้นที่ปรับเปลี่ยนจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการแบ่งออกเป็น  2  พื้นที่ ๆละ 50  คนเช่น  ที่อำเภอกันทรวิชัย  อำเภอโกสุมพิสัย    จังหวัดมหาสารคาม  เป็นต้น  เหตุผลว่าเพื่อประสิทธิผลของการดำเนินงาน

 โดยภาพรวมนั้นพบว่า  แต่ละพื้นที่มีรูปแบบการจัดดำเนินการคล้ายคลึงกัน  แต่ต่างกันตามบริบทของแต่ละพื้นที่  ซึ่งประกอบด้วย3 ขั้นตอนใหญ่ ๆ ดังนี้

1.ก่อนดำเนินการ

            1.วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม   ทำหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพกสค. อันประกอบด้วยผู้บริหาร  และทีมวิทยากร (ครู ก)และมอบหมายเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จำนวน  1 ท่าน ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก

2.ทีมครู ก  ประชุมวางแผนการดำเนินงาน   พร้อมแบ่งทีมงานออกเป็น  5  กลุ่มใหญ่  และแต่ละกลุ่มใหญ่จำแนกออกเป็น  5  กลุ่มย่อย  ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

            3.ทีมครู ก สาธิตการดำเนินการพัฒนากสค. ให้แก่ทีมวิทยากรระดับอำเภอ  ซึ่งได้แก่  เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)ของแต่ละอำเภอ  ในพื้นที่  3 จังหวัด ๆ ละ  1 – 2  แห่ง ๆ ละ จำนวน 3 วัน  ตามหลักสูตรที่กำหนด 

4.ทีมครู ข   แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพกสค. ฯ ระดับอำเภอ  (ครู ข)  ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพยาบาลวิชาชีพบางส่วนเป็นนักวิชาการสาธารณสุข  และบางแห่งมีนักกายภาพบำบัด   เภสัชกร  ร่วมปฏิบัติ  เช่น  นักกายบำบัด  โรงพยาบาลวาปีปทุม   จังหวัดมหาสารคาม  จังหวัดกาฬสินธุ์  และ เภสัชกร  โรงพยาบาลจตุรพักตรพิมาน  และนักการแพทย์แผนไทย  จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็นต้น 

5. ทีมวิทยากรระดับอำเภอ  หรือครู ข  ประชุมวางแผนการดำเนินงาน   พร้อมแบ่งทีมงานออกเป็น  5  กลุ่มใหญ่  แต่ละกลุ่มใหญ่จำแนกออกเป็น  5  กลุ่มย่อย  ดังเช่นที่ครู ก กำหนดไว้ข้างต้น

มีวิทยากรประจำกลุ่มละ   2- 3  คน

6. ทีมครู ข  ดำเนินการค้นหาและคัดเลือกกสค.หลากหลายรูปแบบ   เริ่มด้วยการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของผู้จะเข้ารับการอบรม   คือ  1. เป็นสมาชิกในครอบครัว2. เป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลผู้ด้อยโอกาสดังกล่าว  โดยเฉพาะ กสค. ที่มีหน้าที่ดูแลผู้ด้อยโอกาสที่เป็นผู้พิการ  หรือผู้ป่วยนอนติด

มีข้อจำกัดในการเข้าร่วมโครงการ   เช่น  พี่น้อง  ญาติ  และคนในชุมชน  และ 3.เป็นอสม. ในกรณี  กสค. ตัวจริงไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้    เป็น อสม. ที่มีคุณสมบัติที่มีจิตอาสาในการดูแลผู้ด้อยโอกาส และมีศักยภาพเพียงพอในการดูแล

จากการศึกษาพบว่า  ผู้เข้าร่วมโครงการ  เป็น อสม. มากกว่า กสค.  ถึงร้อยละ 20  โดยเฉพาะที่อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด  เป็น อสม ถึงร้อยละ 62.62  กสค เพียงร้อยละ 37.37 ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  และข้อกำจัดในด้านการประชาสัมพันธ์  หรือด้านการบริหารจัดการในช่วงเตรียมการ

7.  ประชาสัมพันธ์ให้ กสค. เข้าร่วมโครงการหลากหลายรูปแบบ  ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใช้วิธีประชาสัมพันธ์ด้วยการแจ้งในวาระการประชุมประจำเดือนของ อสม.  และ มอบหมายให้ อสม. ไปบอกกล่าวด้วยวาจาแก่ผู้ดูแลที่บ้าน   นอกจากนี้บางพื้นที่ทำหนังสือราชการไปเชิญกสค.   พร้อมแจ้งย้ำเตือนด้วยการประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าว  และเสียงตามสาย 

จากการศึกษาพบว่า  ผู้ปกครองบางส่วนของกลุ่มเด็กด้อยโอกาส ไม่ยอมรับตนเองและไม่ยอมให้ความร่วมมือ  เช่นกรณีเด็กมีปัญญาทางสมอง ปัญญาอ่อน  ผู้ปกครองบางรายมีความอาย  กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่สาธารณสุขบางพื้นที่จึงใช้วิธีการเชิงรุก  ด้วยการไปพบผู้ปกครองที่บ้านด้วยตนเอง  เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ในการดำเนินโครงการ  และประโยชน์ที่ผู้ปกครองและเด็กด้อยโอกาสพึงจะได้

2.ขณะดำเนินการ

            จากการศึกษาพบว่า  แต่ละพื้นที่ส่วนใหญ่ดำเนินการ 3  วัน  มีบางพื้นที่ปรับจำนวนเหลือ  2 วัน  ดังเหตุผลที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น  ซึ่งขั้นตอนดำเนินการ  มีดังนี้

วันที่ 1 ภาคเช้า

1.กิจกรรมสันทนาการ  เริ่มต้นด้วยการสันทนาการด้วยกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ  เพื่อให้ กสค. ได้ปลดปล่อยพันธนาการที่เป็นภาระหนักอึ้งที่กสค.ต้องรับผิดชอบในต่ละวัน  เช่น  การเล่นเกมส์แนะนำตนเอง  การร้องเพลง  รำวงประกอบดนตรี  เช่น  ที่ตำบลดอนหว่าน  อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม  จัดให้มีการละเล่นฟ้อนรำและดนตรีพื้นบ้านของกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้สั่งสมภูมิปัญญาพื้นบ้านเอาไว้

              ภาคบ่าย  สี่วนใหญ่เน้นความสนุกเร้าใจเพื่อป้องกันความง่วงมาเยือน  ด้วยการเล่านิทานประเภทสองแง่สองง่ามให้ กสค.ได้หัวเราะสนุกสนาน  เช่นที่บ้านแพง อำเภอโกสุมพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม   บางพื้นที่ร้องผญาช่วยให้กสค.  สนุกลดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาระหน้าที่ของตนไปได้หลายชั่วขณะเลยทีเดียว การจัดกิจกรรมสันทนาการนั้น  ดำเนินการเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่เริ่มแรกของแต่ละวัน   ไปจนช่วงหลังรับประทานอาหารกลางวัน   และช่วงขั้นรายการในภาคบ่าย  เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีความสุข สนุกสนาน  บรรยากาศ ที่เป็นกันเอง       

            2.กิจกรรมจิตปัญญา  ด้วยการใช้สุนทรียสนทนา  (Dialoge)ด้วยการแบ่งปันความรู้สึกแก่กันและกันทั้งผู้พูดและผู้ฟัง  ด้วยฟังอย่างตั้งใจและใคร่ครวญ  เริ่มต้นกิจกรรมด้วยการภาวนาสติ  นั่งสงบนิ่ง  3  นาที  บรรเลงประกอบด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ บางพื้นที่มีการทำท่าทางประกอบเพลงที่มีเนื้อความว่า “ลมหายใจเข้า  ลมหายใจออก ดอกไม้บาน” ฯลฯ  ต่อจากนั้นแบ่ง กสค.ออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มเด็กด้อยโอกาส  กลุ่มผู้พิการ  กลุ่มจิตเวช  กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  และกลุ่มผู้สูงอายุ    แล้วดำเนินการสุนทรียสนทนา  ด้วยการให้ใบงานที่กำหนดให้ กสค.  แต่ละคนเล่าประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่มีอยู่ในครอบครัวหรือที่กำลังดูแลว่าเป็นอย่างไร มีใครบ้าง มีจำนวนกี่คน  ป่วยหรือด้อยโอกาสมานานแล้วกี่ปี  มี กสค. เป็นผู้ดูแลหลักหรือเป็นใคร  แล้วมีใครคอยช่วยดูแล  รวมถึงดูแลด้านใดบ้างในชีวิตประจำวัน    เมื่อดูแลแล้วรู้สึกอย่างไร  ประสบปัญหาอะไรบ้าง  แล้วอยากได้อะไรจากการร่วมโครงการนี้  ขณะเล่าเรื่องราวกำหนดให้ กสค. ทุกคนรับฟังอย่างตั้งใจ  เพื่อให้ผู้เล่าได้ระบายสิ่งที่มีอยู่ในใจ  คับข้องใจ  ร่วมแบ่งเบาความรู้สึกต่อกัน    และรับรู้ถึงเรื่องราวของแต่ละคน  โดยมีวิทยากรประจำกลุ่ม ๆ ละ อย่างน้อย 2 คน  ซึ่งคนหนึ่งทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ  อีกคนทำหน้าที่จดบันทึกการเล่าเรื่องราวเพื่อนำไปวิเคราะห์  สรุปเพื่อถอดบทเรียน  หลังจากนั้นร่วมสะท้อนความรู้สึก  การรับรู้ถึงปัญหา  และความต้องการของผู้ดูแลผู้ด้อยโอกาส ว่าต้องการให้ทีมช่วยเหลืออย่างไร ร่วมกัน

              ต่อจากนั้นให้ กสค. ชมวีดิทัศน์  เรื่อง “การดูแลด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์” ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับนักศึกษาพยาบาลออกเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่บ้าน  ซึ่งเนื้อความล้วนสะท้อนให้เห็นคุณค่าของผู้ดูแลผู้ด้อยโอกาส  และการได้เรียนรู้การสั่งสมประสบการณ์ในการดูแลจากสภาพจริงของ กสค.ซึ่งไม่มีให้ได้เรียนรู้จากตำราที่มีอยู่ทั่วไป

3.คัดเลือกผู้ด้อยโอกาสรายกรณีศึกษา  เพื่อให้กสค. แต่ละกลุ่มได้เรียนรู้จากการเยี่ยมที่บ้าน  โดยส่วนใหญ่ทีมวิทยากรเป็นผู้กำหนด  แต่มีบางพื้นที่ที่ให้ กสค . ทุกคน  มีส่วนร่วมในการพิจารณาคัดเลือกผู้ด้อยโอกาส โดยให้ กสค. ร่วมกันกำหนดคุณสมบัติและจัดลำดับความสำคัญของผู้ด้อยโอกาสที่ควรได้รับการเยี่ยมที่บ้านเป็นลำดับแรก ๆ   ดังนี้  1. เป็นบุคคลที่มีภาวะพึ่งพามาก  ช่วยเหลือตนเองไม่ได้หรือได้น้อย  2. มีความรุนแรงตามสภาพอาการของโรค  3. มีฐานะยากจน  ต้องการความช่วยเหลือ  หลังจากกำหนดรายกรณีแล้ว  ทำการนัดหมายทีม กสค. ประจำแต่ละกลุ่ม ออกเยี่ยมผู้ด้อยโอกาสที่บ้านในเช้าวันรุ่งขึ้น  ซึ่งในช่วงเย็นก่อนถึงวันรุ่งขึ้นวิทยากรทำหน้าที่เดินทางไปประสานกับผู้ด้อยโอกาสและครอบครัวที่ได้รับการคัดเลือกให้รับการเยี่ยมบ้าน  เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ในการเยี่ยมที่บ้าน  ประโยชน์ที่จะได้  พร้อมขออนุญาตให้ทีม กสค. มาเยี่ยมที่บ้านในเช้าวันรุ่งขึ้น

              ภาคบ่าย

             1.บรรยายเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ด้อยโอกาสที่พึงจะได้  โดยเชิญเจ้าหน้าที่จาก พมจ.บรรยายให้ความรู้  จากการศึกษาพบว่า  การใช้รูปแบบการบรรยายนั้นเป็นลักษณะที่เป็นทางการ และมีความเป็นวิชาการเกินไป  รวมถึงเนื้อหากว้างไม่เจาะลึกลงถึงสภาพความเป็นจริงของปัญหาที่เป็นอยู่หลายพื้นที่ปรับรูปแบบจากบรรยายเป็นประสบการณ์ตรงโดยเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลชุมชนที่รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  โดยเน้นไปที่ผู้พิการ  ผู้สูงอายุ  ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก  พร้อมถามตอบข้อสงสัยของ ผู้เข้ารับการอบรม

            วันที่ 2 ภาคเช้า

1. กิจกรรมสันทนาการ  หลากหลายรูปแบบ

2. เยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่บ้าน  โดย กสค. แต่ละกลุ่มออกเดินทางยังบ้านกรณีศึกษาที่คัดเลือกไว้  โดยมีวิทยากรประจำกลุ่มละ  2-3 คน ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวทีมวิทยากร  และทีม กสค. แก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสและสมาชิกในครอบครัว  ต่อจากนั้น กสค. สังเกตลักษณะทางกายภาพของกรณีศึกษา บ้านเรือน  และสิ่งแวดล้อม  พร้อมประเมินประเมินภาวะสุขภาพของกรณีศึกษาทั้งจากการสังเกตและการสัมภาษณ์  รวมทั้งประเมินความต้องการในการขอรับความช่วยเหลือ  หลังจากนั้นวิทยากรทำการสาธิตการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสตามสภาพจริง  เช่น  การรับฟังผู้ด้อยโอกาสอย่างตั้งใจ  การซักถามและให้กำลังใจ  การสัมผัสแตะไหล่เบา ๆ    การแนะนำการปฏิบัติตัวแก่กรณีศึกษาและญาติ  การทำแผลกดทับ  การพลิกตัวให้ทุก 2 ชั่วโมง  เป็นต้นจากนั้นให้ กสค. ฝึกปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส

ภาคบ่าย

1. กิจกรรมสันทนาการ

2.กสค. ระดมสมองสรุปผลการเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสในประเด็นปัญหาและความต้องการ   และการขอความช่วยเหลือจากภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

3. ก่อนสิ้นสุดการดำเนินการ

ตัวแทน กสค. แต่ละกลุ่ม  นำเสนอสรุปผลการเยี่ยมผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่บ้านต่อผู้บริหารระดับท้องถิ่น  ได้แก่  นายกเทศบาลตำบล  นายกองค์การบริหารส่วนตำบล  กำนัน   ผู้ใหญ่บ้าน  กรรมการกองทุนประกันสุขภาพ   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน  ผู้อำนวยการโรงเรียน   สาธารณสุขอำเภอ เป็นต้น  เกี่ยวกับสภาพปัญหาตามสภาพความเป็นจริงที่พบและความต้องการของผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  รวมถึงผู้ดูแล   อีกทั้งสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนควรให้การช่วยเหลือและสนับสนุน  ต่อจากนั้นผู้บริหารระดับท้องถิ่นกล่าวรับทราบปัญหา  และแผนและนโยบายที่จะให้การช่วยเหลือต่อไป

4.หลังดำเนินการ

            เมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานโครงการ ฯ ทีมวิทยากรวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม  ทำการติดตามผลการดำเนินงานของ กสค. แต่ละพื้นที่  ด้วยการจัดเวทีสนทนากลุ่ม  การสัมภาษณ์เชิงลึก  และการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทีมวิทยากรในแต่ละพื้นที่จังหวัด ๆ ละ 1 ครั้ง ๆ ละ 1 วัน รวม 3 ครั้ง   และจัดเวทีถอดบทเรียนการดำเนินงานกสค.ในแต่ละพื้นที่จังหวัด ๆ ละ 1 วัน รวม 3 ครั้ง เช่นกัน  ต่อจากนั้นจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับเขตระหว่างทีมวิทยากร กสค.  ผู้บริหารระดับท้องถิ่น      วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม  รวม  1 ครั้ง 

ประเด็นที่ 3 ต้นแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพ

จากการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการดังกล่าวทำให้ได้มาซึ่งต้นแบบกระบวนการ

พัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส เครือข่ายเขต 12 ซึ่งผู้วิจัยขอนำจุดเด่นของแต่ละขั้นตอนในการดำเนินงานแต่ละพื้นที่  มานำเสนอเป็นภาพรวมของกระบวนการพัฒนาศักยภาพ กสค. ซึ่งสามารถสรุปองค์ประกอบได้ 3 ขั้นตอน  ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 ก่อนดำเนินงานประกอบด้วย 

  1. การทำหนังสือแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพ กสค. ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหาร  และผู้ปฏิบัติ  ซึ่งในคำสั่งแต่งตั้งต้องมีทีมวิทยากรที่ปฏิบัติจริงอยู่ในชุดคณะกรรมการด้วย  พร้อมกำหนดผู้ทำหน้าที่ผู้ประสานงานหลัก และรองอย่างละ 1 ท่าน

  2. จัดประชุมทีมวิทยากรเพื่อการวางแผนงาน  โดยใช้แนวคิดการมีส่วนร่วม  ตั้งแต่ร่วมคิด  ร่วมทำ  ร่วมประเมิน  และร่วมปรับปรุงแก้ไข 

  3. ค้นหาและคัดเลือกแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว (กสค.) ตัวจริงซึ่งเป็นบุคคลซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่บ้าน

  4. ประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบ  และทีมวิทยากรแต่ละพื้นที่ควรไปแจ้งให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่บ้านด้วยตนเอง  เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนในวัตถุประสงค์ของการดำเนินงาน

  5. ปรับความคิดความรู้สึกของสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะผู้ปกครองเด็กด้อยโอกาส  ผู้พิการ  ผู้ป่วยจิตเวช  โดยควรอธิบายให้เข้าใจคำว่า  “ผู้ด้อยโอกาส”  ว่าหมายถึงบุคคลเช่นไร  มิใช่ผู้ที่ถูกสังคมรังเกียจ  แต่เป็นบุคคลที่สังคมจะร่วมกันให้ความรัก  การเอาใจใส่  ขั้นตอนนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งทีมงานควรให้ความสำคัญในสิ่งเหล่านี้ 

     

    ขั้นตอนที่ 2 ขณะดำเนินการ  และขั้นตอนที่ 3 ก่อนสิ้นสุดการดำเนินงาน

    ดำเนินการจำนวน  2 วัน  เป็นเวลาที่เหมาะสม  กับสภาพความเป็นจริงที่กสค.  ต้องมีภาระในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส   การดำเนินการประกอบด้วย

    วันแรก ภาคเช้า 

    1. แนะนำทีมวิทยากร  ชี้แจงวัตถุประสงค์  และประโยชน์ที่  กสค. หรือผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับ  พร้อมสอบถามความคาดหวังความต้องการจากผู้เข้าร่วมโครงการ

    2.  กิจกรรมสันทนาการ หลากหลายรูปแบบ  โดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม  เพื่อละลายพฤติกรรม และให้รู้สึกผ่อนคลายลดความรู้สึกวิตกกังวลจากภาระในชีวิตประจำวัน

    3. ร่วมกันกำหนดคำขวัญ หรือความหมายของคำว่า แกนนำสุขภาพประจำครอบครัว ว่าควรเป็นอย่างไร  พร้อมชี้แจงบทบาทหน้าที่ของกสค. ว่ามีบทบาทเช่นไร 

    4. กิจกรรมจิตปัญญา ใช้แนวคิดสุนทรียสนทนา  เพื่อร่วมแบ่งปันความรู้สึกให้ผู้ฟังฟังอย่างตั้งใจ  คิดใคร่ครวญ  พร้อมจำแนก กสค. ออกเป็น 5 กลุ่ม  ได้แก่  กลุ่มเด็กด้อยโอกาส  กลุ่มคนพิการ  กลุ่มผู้ป่วยจิตเวช  กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  และกลุ่มผู้สูงอายุ  ในแต่ละกลุ่มให้แต่ละคนเล่าประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  ระบายความรู้สึกจากสิ่งที่ประสบ  รวมถึงเล่าประสบการณ์ในการใช้ภูมิปัญญาที่สั่งสมหรือการผลิตนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพ  หลังจากนั้นกำหนดให้แต่ละกลุ่มเลือกผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสกรณีศึกษา จำนวน  3 คน  เพื่อเยี่ยมที่บ้านในช่วงบ่าย

    ภาคบ่าย 

    1.เจ้าหน้าที่สาธารณสุข  ชี้แจงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ด้อยโอกาสพึงจะได้รับโดยยกตัวอย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่มีอยู่ในชุมชน  ว่ามีสิทธิในการจะสามารถการช่วยเหลือใดบ้าง  อย่างไร พร้อมตอบข้อซักถามและให้คำปรึกษา  และเติมเต็มความรู้ส่วนขาดที่ กสค. ควรทราบ

    วันที่ 2 ภาคเช้า

    1.แกนนำสุขภาพประจำครอบครัวออกเยี่ยมผู้ด้อยโอกาสที่บ้าน  ร่วมประเมินภาวะสุขภาพและวางแผนการให้การดูแล  จากนั้นวิทยากรสาธิตการดูแล  พร้อมให้ กสค.ฝึกปฏิบัติ

    2. กสค. ร่วมระดมสมอง  สรุป  วิเคราะห์ผลการเยี่ยมผู้ด้อยโอกาสกรณีศึกษาที่บ้าน

2.ตัวแทน กสค.แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานต่อผู้บริหารระดับท้องถิ่น  เพื่อรับทราบและนำไปกำหนดเป็นนโยบายสำหรับให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องต่อไปแต่จากการศึกษาพบว่า  บางพื้นที่ผู้บริหารระดับท้องถิ่น   ไม่ให้ความสำคัญกับการมาร่วมรับฟังการสรุปผลงาน  ดังนั้นในการดำเนินงานนอกจากทำหนังสือเชิญผู้บริหารระดับท้องถิ่น มาร่วมงานแล้ว  ผู้ประสานงานควรไปเชิญผู้บริหารระดับท้องถิ่นด้วยตนเองอีกครั้งหนึ่ง

            ในการนำเสนอผลการเยี่ยมบ้าน ของ กสค. แต่ละกลุ่ม  ผู้ผู้บริหารระดับท้องถิ่น  และผู้ฟังไม่สามารถมองเห็นสภาพความเป็นจริงได้  ดังนั้นทีมวิทยากรประจำแต่ละกลุ่ม  ควรสรุปภาพของผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสกรณีศึกษานำเสนอเป็นสื่อประกอบ  จะช่วยให้ผู้ฟัง  โดยเฉพาะผู้บริหารระดับท้องถิ่นรับทราบปัญหาและความต้องการที่แท้จริงได้โดยง่าย

ขั้นตอนที่ 4 หลังสิ้นสุดการดำเนินการ

ติดตามผลการดำเนินงานของ กสค. แต่ละพื้นที่  และจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับจังหวัดและเขต  เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  และนำบทเรียนรู้ที่ได้ไปต่อยอดขยายผลต่อไป

 

 

 
 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


แผนภูมิที่  1   แสดงต้นแบบการพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาศักยภาพแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  เขต 12

สรุป อภิปรายผล

            การดำเนินงานโครงการวิจัยพัฒนารูปแบบกระบวนการพัฒนาแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส เขต  12 เป็นหลักสูตรที่มิได้เน้นการดำเนินการให้ความรู้  แต่เป็นหลักสูตรที่ให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกันของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  รวมถึงให้ความสำคัญกับความรู้สึก  นึกคิด  และสภาพจิตใจของผู้ดูแลเป็นลำดับแรก  โดยใช้หลักจิตปัญญาสุนทรียสนทนาเป็นหลัก เพื่อแบ่งปันความรู้สึกแก่กัน  การได้พูดได้ระบาย  โดยได้รับความสนใจ ความใส่ใจจากการรับฟังอย่างตั้งใจ  ช่วยให้ กสค. ได้ปลดปล่อยความทุกข์ที่ฝังแน่นลึกอยู่ในใจ  โดยเฉพาะการสื่อสาร  การพุดคุยด้วยความใส่ใจ  โดยเฉพาะในกรณีผู้ป่วยจิตเวช  ยิ่งกว่ายาขนานเอกใด ๆ  ที่จะช่วยชะล้างที่เศร้าหมองหวาดระแวงให้กลับคืนมาสู่ภาวะปกติที่เบิกบานได้อีกครั้งหนึ่ง  ดั่งคำที่ว่า  “ขอเพียงมีคนเข้าใจ  เห็นใจ  โลกนี้ก็กลับมาสวยใสได้อีกครั้ง” 

              นอกจากนี้  โครงการนี้เป็นโครงการที่เชื่อมประสานการมีส่วนร่วมของเครือข่ายทางสังคมได้อย่างลงตัว   ไม่ว่าจะหน่วยงานบริการสุขภาพของสาธารณสุขทุกระดับ  องค์การบริหารส่วนตำบล  เทศบาลตำบล  โรงเรียน ฯลฯ  ต่างให้ความร่วมมือกันทุกภาคส่วน  การดำเนินกิจกรรมจึงไม่ยุติลงเมื่อโครงการเสร็จสิ้นลง  แต่ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ จักสานต่อเป็นสายใยเชื่อมโยงต่อยอดอย่างยั่งยืนข้อเสนอแนะ

          ในการเตรียมการดำเนินการ  สิ่งสำคัญที่สุดคือ  การค้นหาและคัดเลือก กสค. ซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่แท้จริง  การจะให้ได้มาซึ่งผู้ดูแลตัวจริงนั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ หรืออาจเป็นญาติ  หรือ  อสม. มาทำหน้าที่ดูแลผู้ด้อยโอกาสในช่วงเข้าที่ผู้ดูแลตัวจริงเข้าร่วมโครงการ  เพื่อเอื้ออำนวยให้แก่ผู้ดูแล  นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงในการใช้คำตรง ๆ ว่า “ผู้ด้อยโอกาส” กับบุคคลดังกล่าว  เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน  เสมือนเป็นการตอกย้ำความรู้สึกที่ด้อยค่าของพวกเขาเหล่านั้น

             การดำเนินงานควรจัดผู้เข้าร่วมกิจกรรมโครงการไม่เกิน  50  คน  และไม่ควรใช้วิธีการบรรยายให้ความรู้  ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นทางการเกินไป  แต่ควรใช้วิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  รวมถึงนำภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาสที่ได้จากประสบการณ์ตรงมาถ่ายทอดความรู้แก่กัน   ก่อนสิ้นสุดการดำเนินการวิทยากรจึงเติมเต็มความรู้ในส่วนขาดให้  กรณีจะดำเนินการโครงการต่อยอดในของแต่ละพื้นที่  ไม่จำเป็นต้องดำเนินการใน 5 กลุ่ม ดังกล่าว  แต่ควรดำเนินการเฉพาะกลุ่มที่ประสบปัญหา  อีกทั้งควรดำเนินการไม่เกิน  2 วัน  เนื่องจาก กสค. มีภาระหน้าที่สำคัญ  นอกจากนี้ควรจัดให้มีนักกายภาพบำบัด  นักการแพทย์แผนไทย  เข้าร่วมช่วยผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะรายที่นอนติดเตียงและผู้พิการทางการเคลื่อนไหว  อีกทั้งไม่ควรดำเนินการในช่วงฤดูฝน  ที่ชาวบ้านต้องไปทำนาไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้

           

 กิตติกรรมประกาศ

          ขอขอบคุณสำนักงานหลักประกันแห่งชาติ (สปสช.)ที่สนับสนุนทุนในการดำเนินการและขอขอบคุณ ดร. นฤมล  อเนกวิทย์  ผู้อำนวยการวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม  ที่สนับสนุนทุนในการศึกษาวิจัย และขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทีมวิทยากร กสค.  ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส  และสมาชิกในครอบครัวบุคคลดังกล่าว จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด  จังหวัดกาฬสินธุ์  ที่ให้ความร่วมมือในการศึกษาวิจัยเป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง

กิตติพัฒน์  นนทปัทมะดุลย์.  (2550) สวัสดิการสังคมเพื่อคนด้อยโอกาส  นโยบายว่าด้วยการกินดี 

              อยู่ดี   มีสุข  มีสิทธิ.  โครงการเผยแพร่ความรู้การพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อพัฒนา

                 คุณภาพชีวิตของประชาชน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).

ชื่นฤทัย  กาญจนะจิตรา. (2550) สุขภาพคนไทย  2550.  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม    

                 มหาวิทยาลัยมหิดลกับสำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ.   อมรินทร์พริ้น      

                 ติ้งแอนด์พับลิซซิ่ง  จำกัด  (มหาชน).

ผดุงศิษฎ์  ชำนาญบริรักษ์.  (2554) การพัฒนาหลักสูตรการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังและผู้ด้อยโอกาส

              สำหรับแกนนำสุขภาพประจำครอบครัวเขต 12.   วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม.  

                 สถาบันบรมราชชนกกระทรวงสาธารณสุขทุนส่งเสริมการผลิตผลงานวิจัย  วิทยาลัย

                 พยาบาลศรีมหาสารคาม.

ผ่องพรรณ  อรุณแสง. (2554) การพยาบาลปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ : การนำไปใช้.  คณะ

                 พยาบาลศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

คู่มือปฏิบัติการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับวิทยากรแกนนำสุขภาพประจำครอบครัว.  (2554)

                วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม สถาบันบรมราชชนก  กระทรวงสาธารณสุข.

คู่มือปฏิบัติการดูแลด้านสุขภาพจิตและจิตเวช สำหรับวิทยากรแกนนำสุขภาพประจำ

             ครอบครัว.  (2554)วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม สถาบันบรมราชชนก กระทรวง

                สาธารณสุข.

วิไลวรรณ  ทองเจริญ.   (2554). ศาสตร์และศิลป์  การพยาบาลผู้สูงอายุ.กรุงเทพฯ : คณะ

   พยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. 

ศศิพัฒน์ ยอดเพชร และคณะ. (2552) ตัวแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ดีของครอบครัวและชุมชนใน

             ไทย. วารสารพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ปีที่ 10 ฉบับที่ 3  (กรกฎาคม – กันยายน).

Bondevik, M., &Skogstad, A. (1998) The oldest old, ADL, social network, and loneliness.  Western Journal of Nursing Research, 20(3), 325–343.

Carpenter, G.I., & Demopoulos, G.R. (1990) Screening the elderly in the community: Controlled trial of dependency in older people recently admitted to care home.  Age and Aging, 29, 255-260. 

Cartwright. J. C., Archbold, P.G., (1994) Stewart. B.J.,&Limandri. B. Enrichment  process in

           family caregiving to frail elders. Journal of Advances in Nursing  Science. 17 (1).

             31-43.

Lassye,  W.R. and Lassey, M.l.(2001)   "Japan : Chakkenges of aging and

              culture Change."  In  Quality of life for Older People  :  An International

            Perspective.    pp.  283-316.    New Jersey  :Printice Hall.   

Orem., D.E.(1985) Nursing  :  Concepts  of  Practice.  3rd edition.  New York  :

               McGraw- Hill             Book Co.   

Ribb, M.W.,  Ljunggren,  G.,  Steel, K., Topinkova,  E Hawes,  et al. . (1997) "Nursing  

            Homes in Nations  :  A  Comparison Between Countries and Setting."Age  

               and aging.

United Nations.(2006)  World Population Prospects  :  The 2006 Revision.

Walker. A. J. , and Pratt, C C.  Daughters help to mothers : Intergenerational  aid  versus 

               caregiving. Journal of Marriage  and the Family,53. 3-12.

World  Health Organization. (2000) Home - Based Long – Term Care, Report of a WHO

             Study  group : Home- Based Long – Term Care. Geneva.