กระบวนการสร้างคุณค่าผู้สูงอายุด้วยพุทธวิธี

กระบวนการสร้างคุณค่าผู้สูงอายุด้วยพุทธวิธี

Elderly Value Creation Process by Using Buddhist Response

 

กฤตย์  ไกรราช1, ดร.ทักษิณาร์ ไกรราช2,

ศุภกฤต  สุริโย3, พัชรี  ภาระโข3, ณฐพร  คำศิริรักษ์3

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม1

มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น2

วิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม3

Grid  Krairach1,  Dr. Thaksina Krairach2,

       Supakit Suriyo3, Patcharee  Parakho3, Nataporn Komsirirak3

Mahasarakham  University1

Mahachulalongkornrajavidyalaya University (Khon Kaen Campus)2

Sri Mahasarakham Nursing College3

 

 

 

 

 (เผยแพร่บทความวิชาการ วารสารมหาจุฬาวิชาการ Journal of Mahachula Academic ปีที่ 2 ฉบับพิเศษ เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2558 หน้า 387 - 399)

 

 

บทคัดย่อ

 บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากระบวนการสร้างคุณค่าของผู้สูงอายุด้วยวิธีการทางพระพุทธศาสนา หรือเรียกว่า พุทธวิธี จากการสังเกตเห็นพฤติกรรมของผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มีโรคเรื้อรังหลายโรค ช่วยเหลือตนเองได้บ้างแต่น้อย มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่นการหกล้ม เป็นต้น ความจำเลอะเลือน มีภาวะพึ่งพา ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และที่เป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุคือปัญหาด้านจิตใจ ที่ผู้สูงอายุยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าลดลงไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเก่าก่อน รู้สึกเป็นภาระของลูกหลาน และขาดการยอมรับทางสังคม หากนำปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจของกลุ่มผู้สูงอายุดังกล่าวไปมองผ่านพุทธวิธีที่เรียกว่า สามัญลักษณะ ที่บอกถึงลักษณะทั่วไปของมนุษย์ล้วนมีธรรมชาติเดียวกันคือ ชีวิตร่างกายและจิตใจมีความเสื่อมถอย มีความทรุดโทรมเป็นธรรมดาเสมอเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และหาตัวตนที่แท้ไม่มี มนุษย์ทุกคนเป็นอย่างที่ประสบพบเห็นเช่นนั้นเอง เมื่อผู้สูงอายุเข้าใจและเข้าถึงแก่นแห่งชีวิตดังกล่าว รวมถึงผู้สูงอายุได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพภูมิปัญญาในการถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง จะทำให้ผู้สูงอายุมีความรู้สึกว่าการมีร่างกายและลมหายใจอยู่ในขณะนี้เป็นสิ่งมีคุณค่า มีความภูมิใจและมีความสุขมากขึ้นในการใช้ชีวิตและดำเนินชีวิตกับบุคคลรอบข้างได้ตลอดไปจนกว่าชีวิตจะหาไม่ 

คำสำคัญ: กระบวนการสร้าง, ผู้สูงอายุ, คุณค่าผู้สูงอายุ, พุทธวิธี, สามัญลักษณะ

 

 

Abstract

The article aims to seek an elderly value creation process using a Buddhist method or the so-called Buddhist response. By observing the behaviors of the elderly 80 years of age and older, it is found that most of them have a number of chronic diseases, not many are able to help themselves, there is a high risk of accidents like falling; having dementia; having dependency and they need a close caregiver; and what is a big problem for the elderly is the mental problem wherein the older they get the less valuable they feel they are; they cannot do things they used to do; they feel they have become a burden for their children and they lack social acceptance. If all these physical and mental problems of the elderly are looked at in the light of the Buddhist response called Common Characteristics which state that in general all human beings have the same nature, that is to say, life, body and mind all have the same deterioration in common, nothing is durable and nothing is able to maintain the same state, nothing has its own self, and every human being goes through such states as we have seen, then when the elderly understand and realize the ultimate truth about life as mentioned and when their potentials and wisdom have been promoted and developed to be able to transmit their experience to the generations to come, the elderly will feel that having the body and breath at present is so valuable, and they will feel prouder and happier in leading a life among others until the end of their life.

Keywords:  creation process, the elderly, value of the elderly, Buddhist response, common characteristics

 

 

1. บทนำ

ปัจจุบันผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วแตกต่างจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เห็นได้จากสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุของไทยเพิ่มจากร้อยละ 4.8 ในปี พ.ศ. 2498 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.6 ใน ปี พ.ศ. 2528 ร้อยละ 7.6  ใน ปี พ.ศ. 2538 ร้อยละ 9.3 ใน ปี พ.ศ. 2543 ร้อยละ 12.7 ใน ปี พ.ศ. 2555 และร้อยละ 15.30 ใน ปี พ.ศ. 2557 ตามปกติเกณฑ์ขององค์การสหประชาชาติกำหนดไว้ว่าสังคมใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 10 ถือว่าสังคมนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging  society) จากข้อมูลสถิติประชากรของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่าประเทศไทยได้เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging  society)  ตั้งแต่ พ.ศ. 2547 และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์  (aged  society)  ในปี พ.ศ. 2570 (สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, 2557)

ความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย ทำให้ลดอัตราการเพิ่มประชากรของเด็กแรกเกิด แต่ส่งผลให้สัดส่วนจำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ การทำงานในระบบต่างๆ ของร่างกายค่อยๆเสื่อมถอยลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของร่างกายไปในทางที่เสื่อมลง ประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะต่างๆ เริ่มถดถอยลง ทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดโรคมากกว่าวัยอื่นๆ

 

2. ผู้สูงอายุสังคมไทย

องค์การสหประชาชาติ ให้ความหมายผู้สูงอายุไว้ว่า ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ส่วนแพทย์ทางชราวิทยาจำแนกผู้สูงอายุไว้ 2 ช่วงอายุคือ ผู้สูงอายุตอนต้น อายุ 60-70 ปี และ 70 ปี หรือ 75 ปี ขึ้นไปเรียก ผู้สูงอายุวัยสูงอายุ (Old old) (สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2556) การสูงอายุเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน มนุษย์เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่มองเห็นได้ชัด ได้แก่ ผมหงอก ผิวหนังเหี่ยวย่น ฟันหลุด เริ่มมีความจำเสื่อม และอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่วัยสูงอายุจะแตกต่างกันตามแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกาย กรรมพันธุ์หรือยีน  ทัศนคติ เชาว์ปัญญา สุขภาพจิต รวมถึงความสามารถในการจัดการความเครียดและความสามารถในการปรับตัวเข้าสู่วัยสูงอายุ

จากการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ การพยาบาลและสาธารณสุขทำให้อัตราการตายด้วยโรคติดเชื้อเกือบหมดไป มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้นพบว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคไร้เชื้อเพิ่มมากขึ้นและปัญหาสุขภาพที่สำคัญของกลุ่มโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรความดันโลหิตสูง  โรคเบาหวาน โรคไขมันในหลอดเลือด โรคไต โรคมะเร็ง และอื่นๆ (ศิริพันธุ์ สาสัตย์, 2551) รวมถึงอาการต่างๆ ของผู้สูงอายุที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกายและจิตใจ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 80 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะมีโรคเรื้อรังหลายโรค และความเสื่อมของร่างกายที่ชัดเจน ช่วยเหลือตนเองได้บ้างแต่มีจำนวนน้อย  มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่นการหกล้ม เป็นต้น ความจำเลอะเลือน มีภาวะพึ่งพา ต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด และที่เป็นปัญหาใหญ่ของผู้สูงอายุคือปัญหาด้านจิตใจ ที่ผู้สูงอายุยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าลดลง ไม่สามารถทำอะไรได้เหมือนเก่าก่อน รู้สึกเป็นภาระของลูกหลาน และขาดการยอมรับทางสังคม

 

3. ธรรมชาติของการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมผู้สูงอายุ

           เมื่อย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นตามมา ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจอารมณ์ และสังคม หลายด้านด้วยกัน  

3.1 การเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุมักเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในภาวะปกติคล้ายคลึงกันลักษณะสำคัญที่เห็นได้เด่นชัดมีดังนี้

3.1.1 ลักษณะภายนอก มีรูปร่างหน้าตาที่เปลี่ยนไป ได้แก่ ผิวหน้าหย่อนยาน ผมหงอกขาว ฟันจะค่อยๆ หลุดออก ดวงตาแห้งไม่มีแวววาว อาจมีฝ้าขาว ผิวหนังเหี่ยวย่น แห้ง หยาบกร้าน สีผิวมีรอยด่างดำ ตกกระ ส่วนใหญ่น้ำหนักมากขึ้น อ้วนขึ้น ลำตัวมีโน้มโค้งลง หลังโกง ผมและขนทั่วไปมีจำนวนลดลงสีจางลงจนเป็นสีขาว และผู้ช่วยส่วนมากมักจะหัวล้านหรือผมน้อยลงเรื่อยๆ
                  ในกรณีที่ผมหงอกขาวนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนอธิบายไว้ว่า การทีมีผมสีต่าง ๆ เกิดจากการการทีรากผมสร้างเม็ดสีผม แต่การที่คนผมหงอก ผมขาว มีสาเหตุมาการที่รากผมไม่สร้างเม็ดสี ทำให้เส้นผมไม่มีสี กลายเป็นเส้นผมสีขาวหรือเทาเงินเมื่อสะท้อนแสงซึ่งเส้นผมสีเทาหรือขาวมักเกิดขึ้นเมื่อมีอายุสูงวัย ตามปกติเมื่อคนเราอายุ 30 เส้นผมจะหงอกขาวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20 % ทุกๆ 10 ปี ดังนั้นด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้สูงอายุส่วนใหญ่จึงมีเส้นผมหงอกหัวขาวโพน (พิมลพรรณ พิทยานุกุล, 2555)

            3.1.2 ลักษณะภายใน อวัยวะต่างๆ ทำงานลดลง ได้แก่ ตาฝ้าฟาง สายตายาว หูตึง พูดเสียงแหบลง ช้าลง น้ำเสียงไม่ชัด  ความสามารถในการดมกลิ่นและรับรสไม่ดี อัตราการเต้นของหัวใจลดลง ความดันโลหิตสูงขึ้น นอนไม่ค่อยหลับ ไม่ค่อยมีแรง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย การควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะลดน้อยลง กลั้นปัสสาวะไม่ค่อยอยู่ มีอาการข้อเข่าเสื่อม ปวดเข่า ปวดเมื่อยทั่วร่างกาย การเคลื่อนไหวช้าลง ไม่คล่องแคล่ว การตอบสนองต่อ ปฏิกิริยาต่างๆ ลดลง การทรงตัวไม่ดี ความคิดอ่านช้า (บุษรา ศรีสุพัฒน์, 2552)

                   รศ.นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสตนาสิกลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายความบกพร่องของหูไว้ว่าปัญหาหนึ่งของผู้สูงอายุ และอาจถือเป็นปัญหาของญาติ หรือคนรอบข้างด้วยเหมือนกัน คือ การที่ผู้สูงอายุมีความสามารถในการรับเสียงแย่ลง คือ หูอื้อ หรือหูตึง ซึ่งเป็นภาวะที่ความสามารถในการรับเสียงแย่ลง เป็นภาวะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตในการสื่อสารกับผู้อื่นค่อย ๆ น้อยลงโดยไม่รู้ตัว ญาติของผู้สูงอายุเอง อาจมีปัญหาอื่นตามมาได้ จากการที่ต้องตะโกนสื่อสารกันเป็นเวลานาน ได้แก่ เสียงแหบ เจ็บคอ ไอ และระคายคอเรื้อรัง เป็นต้น  

       ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติของกลไกจากโรคเรื้อรังต่างๆ เช่นถ้าเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด ควบคุมโรคให้ดี เพราะโรคเหล่านี้ ทำให้เลือดไปเลี้ยงประสาทหูน้อยลง ทำให้ประสาทรับเสียงเสื่อมมาก หรือเร็วขึ้น กว่าที่ควรจะเป็น และจากความเสื่อมตามวัย มีการเสียการได้ยินจากประสาทรับเสียงเสื่อมตามวัย การได้ยินบกพร่องของผู้สูงอายุ จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป และเสื่อมเท่ากันทั้ง 2 ข้าง ถ้ามีปัญหาการได้ยินไม่มาก ยังพอได้ยินเสียง มักไม่รบกวนคุณภาพชีวิตประจำวันมากนัก  ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ อาจมีสาเหตุจากประสาทหูเสื่อมจากอายุ ซึ่งไม่มีอันตรายร้ายแรงใดๆ ปัญหาการได้ยินดังกล่าว อาจหายได้ หรืออยู่กับผู้ป่วยตลอดชีวิตก็ได้(ปารยะ อาศนะเสน, 2557)

       สำหรับข้อเข่าเสื่อม จากการศึกษาภาวะสุขภาพของประเทศไทย พ.ศ.2556 สถานการณ์โรคข้อเข่าเสื่อม พบว่า ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมถึงร้อยละ 80 หรือประมาณ 3 ล้านคน ที่มีภาวะโรคข้อเข่าเสื่อม (ศุภกฤต สุริโย, 2557)ข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดข้อเข่าเสื่อมคือ การเหือดแห้งหายของน้ำไขข้อที่ปกติอยู่ระหว่างข้อเข่าทั้งสองข้อ และการสึกและบางลงของกระดูกอ่อนผิวโดยรอบของข้อเข่าทั้งสองข้าง ความยืดหยุ่นของข้อจึงลดลง เดินลำบาก อาการและอาการแสดงของโรคข้อเข่าเสื่อม อาจพบอาการเพียงอาการเดียว หรือ หลายอาการพร้อมกันก็ได้ ในระยะแรกมักจะเป็นไม่มาก และ เป็นๆ หายๆ แต่เมื่อข้อเสื่อมมากขึ้น ก็จะมีอาการบ่อยมากขึ้น การปวดข้อเข่า มักรู้สึกเมื่อยตึงที่น่องและข้อพับเข่า มีอาการข้อขัด ข้อฝืด เหยียด-งอเข่าได้ไม่สุด มีเสียงดังในข้อเวลาขยับข้อเข่า เนื่องจากมีการเสียดสีกันของผิวข้อของเข่า ผู้สูงอายุจึงอาจมีอาการ “นั่งก็โอย นอนก็โอย”

3.2 สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ของผู้สูงอายุ

      มักมีมูลเหตุมาจากการสูญเสียในวัยสูงอายุ ได้แก่ 1. การสูญเสียความสามารถด้านร่างกาย เนื่องจากการทำงานของอวัยวะทุกส่วนของร่างกายลดลง ทำหน้าที่ ได้ไม่เหมือนเดิมก่อให้ผลกระทบถึงอารมณ์ จิตใจ 2. การสูญเสียคู่ชีวิตหรือการพลัดพรากจากญาติ พี่น้องทำให้เกิดความเศร้า ว้าเหว่ เปล่าเปลี่ยว 3. การสูญเสียอิสรภาพและความสามารถในการช่วยตนเอง มีสาเหตุมาจากการ เปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยลง เช่น มีความจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำให้ต้องพึ่งพา ผู้อื่น เป็นต้น 4. การสูญเสียบทบาทในสังคม โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ปลดเกษียณอายุราชการ ต้องเปลี่ยนบทบาททั้งที่ทำงาน และที่บ้าน เกิดความรู้สึกขาดอำนาจหน้าที่ซึ่งเคยมี  ยิ่งผู้สูงอายุใดเคยมีบทบาทในสังคมสูง เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ มีอำนาจหน้าที่  ยิ่งมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมาก (สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, 2554)5. การสูญเสียความสามารถของประสาทสัมผัส ได้แก่ การได้ยิน การได้กลิ่น การ รับรส การรับรู้ทางผิวหนังลดลง ทำให้เกิดผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของผู้สูงอายุ โดยเฉพาะความรู้สึกในคุณค่าของตนเองลดน้อยลง เมื่อมีการสูญเสียเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ ความโกรธ หรือซึมเศร้าบางท่านอาจนอนไม่หลับ วิงเวียนศีรษะ เบื่ออาหาร ขาดความสนใจบุคคลรอบข้าง ซึ่งปฏิกิริยาเหล่านี้อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

3.3 การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมของผู้สูงอายุ

     บุคคลเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ มักจะต้องเผชิญกับภาวะต่างๆ ในสังคมได้แก่ การปลดเกษียณอายุ หรือการออกจากงาน ที่เคยทำประจำ ทำให้ผู้สูงอายุเหล่านี้แยกตัวออกจากเพื่อนฝูง ไม่ยอมเข้าสู่สังคม  ดังนั้น การที่ให้ผู้สูงอายุร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมดังเช่นที่เคยปฏิบัติในวัยกลางคนให้มากที่สุด เท่าที่จะทำได้ จะทำให้ผู้สูงอายุปรับตัวอยู่ในสังคม ได้อย่างมีความสุข

 

4. สามัญลักษณะ : มองผ่านสังขารผู้สูงอายุ

 หากนำปัญหาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมของผู้สูงอายุมามองผ่านพุทธวิธีที่เรียกว่า สามัญลักษณะ ที่บอกถึงลักษณะทั่วไปของมนุษย์ล้วนมีธรรมชาติเดียวกันคือ ชีวิตร่างกายและจิตใจมีความเสื่อมถอย มีความทรุดโทรมเป็นธรรมดาเสมอเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และหาตัวตนที่แท้ไม่มี ไม่มีใครหลีกหนีธรรมชาติของความเสื่อมเหล่านี้ไปได้ มนุษย์ทุกคนจะต้องประสบพบเจออย่างนี้เช่นเดียวกันทุกคน  เมื่อผู้สูงอายุเข้าใจและเข้าถึงแก่นแห่งชีวิตที่มีแต่ความเสื่อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้สูงอายุจะยอมรับและเข้าใจธรรมชาติของตนเอง

           ธรรมชาติความเสื่อมที่ผู้สูงอายุทุกคนไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น  สิ่งที่ผู้สูงอายุควรจะต้องทำคือ การทำใจ ด้วยการทำความเข้าใจสังขารที่ไม่มีวันเที่ยง เสื่อมสลายไปตามกาลเวลา สามัญลักษณะมาเป็นแนวทางในให้คิดใคร่ครวญไตร่ตรองด้วยการรับรู้และเข้าใจ พร้อมปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับรูปลักษณ์ สังขารของตนเอง

           สามัญลักษณะเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งของไตรลักษณ์ เป็นธรรมะที่มีลักษณะ 3 ประการ อันให้ความรู้ถึงความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย ที่เป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมัน ได้แก่ อนิจจตา  ทุกขตา อนัตตา สามัญลักษณะ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.. ปยุตโต), 2551: 89) สามัญลักษณะจึงเป็นกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง อนิจจตา หรืออนิจจลักษณะ หมายถึง ความไม่เที่ยง ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป ทุกสิ่งในโลกย่อมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มีการแปรเปลี่ยนไปเป็นธรรมดา ทุกขตา หรือทุกขลักษณะ หมายถึง ความเป็นทุกข์ มีความบีบคั้นด้วยอำนาจของธรรมชาติทำให้ทุกสิ่งไม่สามารถทนอยู่ในสภาพเดิมได้ตลอดไป และ อนัตตา หรืออนัตตลักษณะ หมายถึง สิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่อนัตตา ไม่มีตัวตน ทุกสิ่งไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการได้ เช่น ไม่สามารถบังคับให้ชีวิตยั่งยืนอยู่ได้ตลอดไป ไม่สามารถบังคับจิตใจให้เป็นไปตามปรารถนา อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง ไม่มีอำนาจกำลังอะไร ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งอื่นๆ มากมายจึงมีขึ้นได้  ลักษณะทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นสามัญลักษณะหรือลักษณะที่เสมอกัน หรือข้อกำหนด หรือสิ่งที่มีประจำอยู่ในตัวของสังขารทั้งปวงเป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ไว้  นิยมเรียกสั้นๆ ว่า อนิจจังทุกขังอนัตตา

อาจกล่าวได้ว่า สามัญลักษณะเป็นวิธีคิดแบบรู้เท่าทัน เป็นการมองอย่างรู้เท่าทันความเป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามตามธรรมดาของมันเอง ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น (โยนิโสมนสิการ, 2556) จึงจะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย รูป  เวทนาสัญญา  สังขาร  วิญญาณ  เป็นสิ่งไม่เที่ยง แปรปรวนได้ธรรมดาที่ว่านั้น อาการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไปเป็นอนิจจัง ไม่อาจเป็นตัวตนของมันเอง และไม่อาจมีอยู่โดยตัวของมันเอง  เพราะมันเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามใจอยากของใคร เป็นอนัตตา รวมความว่า รู้เท่าทันว่าสิ่งทั้งหลายเป็นธรรมชาติ มีลักษณะความเป็นไปโดยทั่วไปเสมอเหมือนกันตามธรรมดาของมันในฐานะที่เป็นของปรุงแต่งเกิดจากเหตุปัจจัยและขึ้นต่อเหตุปัจจัยทั้งหลายเช่นเดียวกัน  โดยขั้นแรก รู้เท่าทันสังขารและยอมรับความจริง เป็นขั้นวางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา ท่าทีแห่งความเป็นอิสระ ไม่ถูกมัดตัว ขั้นที่สอง คือแก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา ด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ ไม่ถูกมัดตัว กล่าวคือเมื่อรู้อยู่แล้วว่าสิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัยขึ้นต่อเหตุปัจจัย เราต้องการให้มันเป็นอย่างไร ก็ศึกษาให้รู้เข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหลายที่จะทำให้มันเป็นไปอย่างนั้นแล้วแก้ไข ทำการจัดการที่ตัวเหตุปัจจัยเหล่านั้น

 

5. กระบวนการสร้างคุณค่าของผู้สูงอายุด้วยพุทธวิธี

การนำสามัญลักษณะมาเป็นแนวกำหนดกระบวนการสร้างคุณค่าผู้สูงอายุ  จึงเริ่มต้นด้วยการให้ผู้สูงอายุรู้และเข้าใจธรรมชาติความเสื่อมของผู้สูงอายุ  ทั้งทางด้านร่างกาย  จิตใจอารมณ์  และสังคม ให้เกิดการยอมรับในความเป็นจริงของชีวิต ทราบต้นเหตุ  ทราบปัจจัย  เพื่อพร้อมที่จะป้องกันแก้ไขต่อสิ่งที่เกิดด้วยสติ  พร้อมให้คุณค่าและศักดิ์ศรีแก่ผู้สูงอายุเทียบเท่าบุคคลทุกกลุ่มวัยในทุกขั้นตอนของการดำเนินงาน  กระบวนการสร้างคุณค่าผู้สูงอายุจะประกอบด้วยกิจกรรม 6 ขั้นตอน ซึ่งได้ให้ความสำคัญกับบ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งอยู่ในวิถีชีวิตของผู้สูงอายุตั้งแต่เด็กจนเติบใหญ่ ดังนี้

  5.1 วัด : พื้นที่วิถีชีวิตผู้สูงอายุ

        5.1.1 จัดเวทีประชาคมผู้สูงอายุ (ที่วัด) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ผู้สูงอายุใช้ดำเนินชีวิตอยู่เป็นประจำ  จึงเลือกเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมเริ่มจากการแจ้งให้ทราบข้อมูลข่าวสารในการดำเนินงานขั้นตอนต่าง ๆ  ชี้แจงวัตถุประสงค์การดำเนินงาน  และแจ้งให้ทราบประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับ  โดยให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมด้วยการระดมสมองผู้สูงอายุเพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการของผู้สูงอายุ  และร่วมกันวางแผนรูปแบบกิจกรรม  การดำเนินงานดังกล่าว

      เนื่องจากที่ผ่านมาคนในสังคมทั่วไปมักมองว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มคนที่มักหลงลืม ความจำไม่ดี  พูดคุยไม่ค่อยรู้เรื่อง และยากต่อการรับรู้  ดังนั้นส่วนใหญ่เมื่อจัดกิจกรรมกับผู้สูงอายุจึงมักจัดดำเนินการเลยโดยไม่ปรึกษาหารือหรือสอบถามความคิดเห็นจากผู้สูงอายุ  แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้สูงอายุยังเป็นบุคคลที่ช่างจดช่างจำและฝังใจกับเรื่องราวต่าง ๆ รวมถึงต้องการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  ผู้สูงอายุยังต้องการทราบถึงผลดี  ผลเสีย หรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการเข้าร่วมกิจกรรมแต่ละกิจกรรม

                5.1.2 ตรวจค้นหาคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุพร้อมแจ้งผลการตรวจ (ที่วัด) ภายหลังการตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพ ผู้สูงอายุในการตรวจสุขภาพเบื้องต้นที่วัด ได้แก่ ชั่งน้ำหนัก วัดส่วนสูง วัดรอบเอว วัดความดันโลหิต และอื่น ๆ  รวมถึงการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามประเมินภาวะสุขภาพจิต เนื่องจากที่ผ่านมาส่วนใหญ่เมื่อตรวจค้นหาภาวะสุขภาพผู้สูงอายุ เจ้าหน้าที่มักเก็บผลการตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเข้าแฟ้มเอกสาร โดยมิได้แจ้งผลการตรวจทันทีแต่อย่างใดเสมือนการทำตามหน้าที่ให้ได้รายงานไปเป็นหลักฐานการทำงาน  มิได้แจ้งผลหรือแนะนำการปฏิบัติตัวแต่ประการใด ลืมคิดถึงธรรมชาติของผู้สูงอายุไปว่าผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มักใจจดใจจ่อกับสิ่งที่ตนกระทำ    ในการจัดกิจกรรมดังกล่าว จึงสร้างความรู้สึกที่มั่นคงปลอดภัยให้กับผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงความรู้สึกมองเห็นคุณค่าของตนเองที่มีเจ้าหน้าที่หน่วยบริการสุขภาพพร้อมใส่ใจให้ความรู้แนะนำการปฏิบัติตัว ที่ช่วยทำให้คลายความวิตกกังวลถึงภาวะสุขภาพของตน

           5.2 โรงเรียน : วิถีชีวิตที่เล่าเรียนของผู้สูงอายุและผู้ดูแล

                5.2.1.จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ (ที่โรงเรียน) การจัดกิจกรรมดังกล่าว ไม่ใช้รูปแบบการบรรยายในการให้ได้มาซึ่งความรู้  แต่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของผู้สูงอายุ ด้วยการให้คุณค่ามูลค่าในประสบการณ์ของภูมิปัญญาในการสั่งสมเรียนรู้มาตลอดชีวิตของผู้สูงอายุ 

           เริ่มจากการนำหลักสามัญลักษณะมาใช้ให้ผู้สูงอายุรู้จักและเข้าใจธรรมชาติความเสื่อมของตนเอง  ให้รับรู้ถึงต้นเหตุของความเสื่อมความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจอารมณ์ และสังคม เพื่อเข้าใจว่าเพราะเหตุใดเส้นผมผู้สูงอายุจึงหงอก  ผิวเหี่ยวย่น มีอาการปวดข้อ ปวดเข่า ปวดขา  หูตาทำไมฝ้าฟาง  หูตึงฟังไม่ค่อยได้ยิน เพราะอะไร อย่างไร และเน้นย้ำให้เข้าใจเป็นวัฏจักรของชีวิต เกิด  แก่ เจ็บ ตาย  ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า  โดยสร้างพลังและคุณค่าผู้สูงอายุ  ด้วยประโยคที่ว่า “การมีอายุอยู่จนเป็นผู้สูงอายุได้จนทุกวันนี้นั้น  ถือเป็นคนที่มีบุญ  ที่ได้มีโอกาสรับรู้และเข้าใจธรรมชาติและสังขาร  มีโอกาสได้รับรู้และสัมผัสความจริงในเรื่องการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตามคำสอนของพระพุทธองค์” 

           ต่อจากนั้นจึงจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยการเปิดประเด็นให้ผู้สูงอายุแต่ละคนเล่าประสบการณ์ดูแลสุขภาพของตนเองให้ผู้สูงอายุอื่น ๆ ได้เรียนรู้และได้เพิ่มเติมในสิ่งที่แต่ละคนมีประสบการณ์ โดยเติมเต็มให้แก่กันและกัน และในช่วงท้ายของกิจกรรมวิทยากรจึงทำหน้าที่เติมเต็มความรู้ส่วนขาดหรือส่วนที่ควรมีแต่ผู้สูงอายุไม่ได้กล่าวถึง  ทำการเพิ่มเติมให้แก่ผู้สูงอายุอีกครั้ง  การจัดกิจกรรมผู้สูงอายุนี้ไม่เน้นเนื้อหาวิชาการนัก แต่เน้นเพียงเนื้อหาที่เน้นการปฏิบัติ ที่เรียบง่าย สั้นกระชับ ที่สามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้จริง  ในการจัดกิจกรรมแต่ละครั้งใช้เวลาดำเนินการไม่เกินครึ่งวัน  เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม นั่งนานไม่ได้ และเน้นอีกทั้งในการจัดกิจกรรมวิทยากรเน้นการสื่อสารที่เปล่งเสียงดังกว่าปกติ  ให้ผู้สูงอายุได้ยินได้ฟังชัด  เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีปัญหาในการได้ยิน

                การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้สูงอายุ  ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ได้สร้างคุณค่าทางสังคมให้แก่ผู้สูงอายุ  ทำให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสออกมาจากบ้าน ได้มาพูดคุยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต  ได้เล่าเรื่องราวและแลกเปลี่ยนการดูแลสุขภาพตนเองกับผู้อื่น  รวมถึงเล่าภูมิปัญญาที่สั่งสมมาถ่ายทอดต่อผู้อื่น

                 5.2.2.จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ดูแลผู้สูงอายุในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ (ที่โรงเรียน) เนื่องจากผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีภาวะพึ่งพา การจะส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดีนั้น จำเป็นต้องนำบุคคลที่ดูแลหลักหรือผู้ดูแลผู้สูงอายุมาเข้าร่วมกิจกรรม ผู้ดูแลผู้สูงอายุในที่นี้อาจหมายถึง ภรรยาหรือสามีของผู้สูงอายุ พี่น้อง ลูกหลานของผู้สูงอายุ  ซึ่งการดำเนินกิจกรรมไม่ใช้รูปแบบการบรรยายในการให้ได้มาซึ่งความรู้เช่นเดียวกับการดำเนินงานกับผู้สูงอายุ แต่เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุระหว่างผู้ดูแลผู้สูงอายุ 

             เริ่มแรกด้วยการนำหลักความกตัญญูกตเวทีมาเป็นกรอบในการดำเนินการกับผู้ดูแลผู้สูงอายุให้รู้จักและเข้าใจผลแห่งการทำความดี ผลดีของการตอบแทนคุณบุพการีหรือผู้มีพระคุณ ทำดีได้ดีตามคำสอนของพระพุทธเจ้า โดยยกคำกล่าวที่ว่า “การยังมีบิดามารดา ปู่ย่าตายายให้ดูแลนั้น ถือเป็นสิ่งที่ประเสริฐยิ่งสำหรับตัวเราเอง ที่ช่วยให้เราได้มีโอกาสสร้างบุญอันยิ่งใหญ่ในการตอบแทนบุพการี  ก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้มีชีวิตอยู่ให้เราได้ดูแล”

             ต่อจากนั้นจึงดำเนินเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ ด้วยการเปิดประเด็นให้ผู้ดูแลผู้สูงอายุแต่ละคนเล่าประสบการณ์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ  เรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้ดูแลผู้สูงอายุ  โดยนำแนวคิดจิตปัญญามาสร้างเสริมพลังทางจิตให้แก่ผู้ดูแล เพื่อมีพลังที่จะสามารถสู้ชีวิตต่อไปได้  ด้วยการเล่าเรื่องราว ประสบการณ์การดูแลผู้สูงอายุของตน  พร้อมพิจารณา  ไตร่ตรอง  ใคร่ครวญ  พร้อมระบายเล่าเรื่องราวประสบการณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบให้ผู้อื่นได้รับรู้และเข้าใจ และในช่วงท้ายของกิจกรรมวิทยากรทำหน้าที่เติมเต็มความรู้ส่วนขาดหรือส่วนที่ควรให้เพิ่มเติมให้แก่ผู้ดูแลผู้สูงอายุ  โดยเฉพาะความรู้เรื่องธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมผู้สูงอายุให้รับรู้เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งในตัวผู้สูงอายุ

 

       5.2.3. จัดกิจกรรม “พ่อใหญ่แม่ใหญ่สอนหลาน (ที่โรงเรียน)” 

                    จากการสำรวจผู้สูงอายุในพื้นที่ดำเนินการพบว่า ผู้สูงอายุมีการสั่งสมภูมิปัญญาพื้นบ้านไว้จำนวนหนึ่ง จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาศักยภาพภูมิปัญญาผู้สูงอายุเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ลูกหลาน เริ่มด้วยการค้นหาผู้สูงอายุที่มีภูมิปัญญาพื้นบ้าน  แล้วทำการคัดเลือกไว้รวม 6 ท่าน ซึ่งมีภูมิปัญญามีคุณค่าควรแก่การอนุรักษ์ไว้แรก ๆ ประกอบด้วย ภูมิปัญญาด้านการทอเสื่อกก ด้านอาหารอีสานพื้นบ้าน ด้านทำขนมข้าวเม่า (ขนมพื้นบ้านดั้งเดิมของจังหวัดมหาสารคาม) ด้านดนตรีพื้นบ้าน  ด้านจักสาน ด้านการบีบนวด โดยเข้าไปประสานงานกับผู้บริหารโรงเรียน  แล้วนำไปสอดแทรกไว้ในรายวิชาที่เกี่ยวข้อง 

          การนำผู้สูงอายุมาทำหน้าที่สอนดังเช่นครูในโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม  มีมุมมองและทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุแตกต่างไปจากเดิม จากเดิมที่มองเพียงเป็นคนแก่ๆ ที่นั่งเฝ้าบ้าน รอวันร่วงโรยรา  กลับเริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวผู้สูงอายุ ทึ่ง และเกิดการยอมรับความรู้ความสามารถในผู้สูงอายุ พร้อมรู้สึกรักและสนใจในภูมิปัญญาที่ผู้สูงอายุถ่ายทอดให้  สำหรับผู้สูงอายุที่ทำหน้าที่สอนลูกหลานเกิดความรู้สึกอิ่มเอิบใจ มีความสุข และมีความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น รู้สึกว่าตนเองยังมีค่า ยังมีประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ไม่ใช่คนแก่ ที่แก่แล้วแก่เลยอีกต่อไป 

          ผู้สูงอายุหญิงคนหนึ่งกล่าวว่า “แม้ยายเรียนจบแค่ ป.4 แต่ยายได้มาเป็นครูสอนหนังสือ ให้เกียรติยายมาก ยายรู้สึกว่ายายมีค่ามากกว่าเดิมเยอะ”   

                 ผู้สูงอายุชายอีกคนกล่าวความรู้สึกให้ฟังว่า “ตาดีใจที่ความรู้ที่ตาสะสมมาตั้งแต่เด็ก ๆ มีคนให้ความสนใจ และสนใจให้หลานๆ ที่โรงเรียน ตาก็ยิ่งสุขใจ” 

           5.3 บ้าน : วิถีชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ  

      กิจกรรมเยี่ยมผู้สูงอายุ (ที่บ้าน)  โดยให้ทีมสหวิชาชีพด้านสุขภาพ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   เพื่อติดตามการดูแลตนเองของผู้สูงอายุและการดูแลผู้สูงอายุของผู้ดูแล  พร้อมชี้แนะการดูแลตามโรคตามอาการและเหมาะสมตามบริบทของผู้สูงอายุ 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กล่องข้อความ: กระบวนการสร้างคุณค่าผู้สูงอายุ

                         

คำสงวน: เวทีประชาคมผู้สูงอายุ (ที่วัด)

 

คำสงวน: “พ่อใหญ่แม่ใหญ่
สอนลูกหลาน”  (ที่โรงเรียน)
คำสงวน: ตรวจค้นหาคัดกรองภาวะสุขภาพผู้สูงอายุพร้อมแจ้งผลตรวจ (ที่วัด)

 

  

คำสงวน:  เวทีแลกเปลี่ยนเรียนผู้สูงอายุ 
            (ที่โรงเรียน)
คำสงวน: เยี่ยมผู้สูงอายุ (ที่บ้าน)

 

คำสงวน: เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผู้ดูแลผู้สูงอายุ
          (ที่โรงเรียน)

                   

 

                           ภาพแสดงที่ 1  กระบวนการสร้างคุณค่าผู้สูงอายุ

 

6. บทสรุป

    จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า กิจกรรมทุกขั้นตอนล้วนเป็นกระบวนการที่สร้างคุณค่าให้แก่ผู้สูงอายุ  มนุษย์เราทุกคนการจะรู้สึกว่าตนมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่าหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการรับรู้และความเข้าใจในสิ่งที่กระทำเป็นอันดับแรก  แต่หากรับรู้ว่าตนเป็นบุคคลที่จะทำอะไรด้วยก็ได้โดยไม่บอกไม่กล่าว  บุคคลเหล่านั้นจะรู้สึกถึงความด้อยค่า ไร้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์  อีกทั้งหากรับรู้ความเป็นจริง รับรู้ธรรมชาติของตนเองในสิ่งที่ตนกำลังเป็นอยู่  ว่าเป็นธรรมชาติของสังขารที่ทุกคนไม่สามารถหลีกหนีได้พ้น  เป็นอนิจจัง  เป็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน  ไม่คงที่  ไม่จีรังยั่งยืน  ซึ่งถือเป็นกฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวงของสามัญลักษณะ เป็นการรับรู้ความเป็นไปความเป็นจริงของสังขาร  ก็จะนำมาซึ่งการรู้เท่าทันและยอมรับตนเอง การเข้าใจตนเอง  และไม่มองตนว่าผิดปกติไปจากผู้อื่น  เหล่านี้จึงทำให้ผู้สูงอายุยังมองเห็นคุณค่าในตน  นำไปสู่การปฏิบัติที่สอดรับกับบริบทสภาพความเป็นจริงของผู้สูงอายุในชุมชน  นอกจากนี้ความรักความเข้าใจที่ให้คุณค่าแก่ผู้สูงอายุ  ได้ร้อยรวมดวงใจระหว่างเด็กและเยาวชน  ผู้ดูแลหรือสมาชิกในครอบครัว ให้เกิดความใกล้ชิดกันกับผู้สูงอายุมากขึ้น  ลดช่องว่างระหว่างวัย และความไม่เข้าใจ  มองเห็นคุณค่าในตัวผู้สูงอายุมากขึ้น 

     กิจกรรมดังกล่าวเป็นการนำปัญหาทั้งด้านร่างกายและจิตใจของกลุ่มผู้สูงอายุมองผ่านพุทธวิธีที่เรียกว่า สามัญลักษณะ ที่บอกถึงลักษณะทั่วไปของมนุษย์ล้วนมีธรรมชาติเดียวกันคือ ชีวิตร่างกายและจิตใจมีความเสื่อมถอย มีความทรุดโทรมเป็นธรรมดาเสมอเหมือนกันหมด ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ และหาตัวตนที่แท้ไม่มี มนุษย์ทุกคนเป็นอย่างที่ประสบพบเห็นเช่นนั้นเอง เมื่อผู้สูงอายุเข้าใจและเข้าถึงแก่นแห่งชีวิตที่มีแต่ความเสื่อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้สูงอายุจะยอมรับและเข้าใจธรรมชาติของตนเอง

               การดำเนินการโดยใช้สามัญลักษณะเป็นกรอบ จึงเป็นการสร้างคุณค่าด้านสุขภาพจิต รู้เท่าทันสังขาร ทำให้จิตเป็นอิสระหลุดพ้น ไม่ยึดติดผูกพันกับสังขาร รูป รส สลัดสิ่งทั้งปวงหลุดพ้นออกไปจากใจ รู้สึกเป็นเสรี ปลอดโปร่ง โล่งเบา เบิกบานผ่องใส เป็นเหตุให้เกิดความรู้สึกมีคุณค่า มีความสุข อย่างประณีต ลึกซึ้ง 

 

บรรณานุกรม

บุษรา ศรีสุพัฒน์. (2552). ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความพร้อมของผู้ดูแลในการดูแลผู้สูงอายุที่

มีภาวะพึ่งพาสูงก่อนการจำหน่าย. พยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการพยาบาล 

พยาบาลผู้สูงอายุ คณะพยาบาลศาสตร์ (บัณฑิตวิทยาลัย) มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

ปารยะ อาศนะเสน. (3 เมษายน 2557). ปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม 2558,

จาก http://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=1102

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.. ปยุตโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม.

(พิมพ์ครั้งที่ 17). กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

พิมลพรรณ พิทยานุกุล. (14 ตุลาคม 2555). ผมหงอก หัวหงอก ผมขาว. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม

2558, จาก http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/120/ผม

          หงอก

โยนิโสมนสิการ. (24 สิงหาคม 2556). วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์. สืบค้นเมื่อ 6 มีนาคม

2558, จาก https://analyticalreflection.wordpress.com/2013/08/24

ศิริพันธุ์  สาสัตย์. (2551). การพยาบาลผู้สูงอายุ ปัญหาที่พบบ่อยและแนวทางในการดูแล.

กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ศุภกฤต สุริโย. (2557). การพัฒนาบริการสุขภาพผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมของโรงพยาบาลส่งเสริม

สุขภาพตำบล. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล. (2557). รายงานข้อมูลประชากรประเทศไทย

ประจำปี 2557. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยมหิดล.

สำนักงานส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2554). คู่มือการส่งเสริมสุขภาพ

ผู้สูงอายุสำหรับบุคลากรสาธารณสุข. กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.

สำนักส่งเสริมสุขภาพ  กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. (2556). คู่มือแนวทางการอบรมผู้ดูแล

ผู้สูงอายุระยะยาว. กรุงเทพฯ: องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก.